นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับแนวทางการสร้างความปรองดองตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าต้องยึดตามกฎหมาย โดยให้ได้ข้อยุติตามกระบวนการยุติธรรมคือศาลตัดสิน ซึ่งเป้าหมายของเรื่องนี้คือการลดความขัดแย้ง และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งแกนนำพรรคเห็นตรงกันว่าจะสนับสนุนการทำงานให้สำเร็จ เพื่อเป็นหลักประกันว่าการทำงานการเมืองจะไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งพรรคจะสรุปข้อเสนอที่ได้หารือกันในวันนี้ส่งกลับไปให้ สปท.ภายในวันที่ 31 ม.ค.60
"เราใช้เวลาคุยกันไม่นาน เพราะเห็นตรงกันว่าจะสนับสนุนให้ทำงานได้สำเร็จ เพื่อเป็นหลักประกันว่าการเมืองจะไม่เกิดความความขัดแย้งอีก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
พร้อมทั้ง เสนอให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายการทำงานเรื่องการสร้างความปรองดองให้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) รับผิดชอบเพียงองค์กรเดียว เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ ทำงานบรรลุเป้าหมาย ป้องกันความสับสนของสังคมจนเกิดความเบื่อหน่าย
"ในเมื่อ คสช.เป็นเจ้าภาพหลัก และมีการตั้ง ป.ย.ป.ก็ควรมอบหมายงานไปเลยเพื่อให้เกิดเอกภาพ สังคมจะได้ไม่สับสนและเกิดความเบื่อหน่าย ป.ย.ป.จะได้กำหนดกรอบประเด็นคำถามที่ชัดเจน เพราะตอนนี้มีหลายองค์กรที่ทำงานเรื่องนี้อยู่ ทั้ง สปท. ทั้ง สนช. ถ้ามีเจ้าภาพที่ชัดเจนเป็นเอกภาพจะได้กำหนดกรอบประเด็นคำถามให้เป็นทิศทางเดียวกัน ไม่แตกประเด็นจนเกิดความขัดแย้งกันอีก ตอนนี้แม่น้ำมีหลายสาย คนก็ไม่รู้ว่าน้ำมาจากสายไหนแน่" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนโครงสร้างของคณะกรรมการที่จะมาทำงานเรื่องปรองดองนั้นมีได้ 2 รูปแบบ คือ 1.มีตัวแทนที่มีความหลากหลายจากทุกฝ่าย เพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องความเป็นกลาง แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก และ 2.กำหนดตัวบุคคลชัดเจนไปเลย แล้ววางกรอบการสอบถามความเห็นแล้วนำมาประมวล ไม่มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า
นายอภิสิทธิ์ ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ว่า อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาใน 3 เรื่อง คือ 1.การแก้ไขปัญหาเรื่องการเรียนของเด็กในพื้นที่ โดยจัดสถานที่เรียนที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเด็กที่ไม่ได้เปิดเรียนมานานนับเดือนแล้ว 2.มาตรการสร้างงานให้กับเกษตรกรที่ขาดรายได้ นอกเหนือจากการจ่ายเงินชดเชยให้แล้ว ทั้งการสร้างงานโดยภาครัฐเอง หรือการให้มาตรการจูงใจเอกชนลงไปสร้างงาน เช่น การลดภาษี และ 3.การยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค แทนที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อซ่อมแซมเท่านั้น