พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่สังคมแสดงความเป็นห่วงเรื่องการตรวจสอบปัญหาการทุจริตรับสินบนกรณีโรลส์-รอยซ์ ของ บมจ.การบินไทย, บมจ.ปตท. และ บมจ.ทีโอที ที่อาจล่าช้า โดยเสนอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าใจถึงความเป็นห่วงดังกล่าวของสังคม แต่กรณีนี้เห็นว่ามีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และมีกฎหมายปกติบังคับใช้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เข้ามาดำเนินการ
"ท่านนายกฯ เข้าใจความห่วงใยของสังคมที่ต้องการให้เร่งรัดชี้ผิดชี้ถูก เพื่อจะได้หายกังขาว่ามีใครเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่ แต่รัฐบาลก็ต้องคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมในขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ เพราะเรื่องนี้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ป.ป.ช. และ สตง. ซึ่งมีกฎหมายปกติที่จะนำไปใช้บังคับอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เข้ามาดำเนินการ เช่นเดียวกับกรณีจำนำข้าวที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ โดยผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสสู้คดีได้ อย่างโปร่งใสและยุติธรรม" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมระบุว่า การใช้มาตรา 44 จะเกิดขึ้นเฉพาะเรื่องที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น เช่น เรื่องที่มีปัญหาติดขัดในข้อกฎหมายเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เรื่องที่มีขั้นตอนกระบวนการยุ่งยากซับซ้อน หากล่าช้าจะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวม เป็นต้น นอกจากนี้ หากใช้กฎหมายพิเศษในกรณีนี้ อาจถูกคนบางกลุ่มเชื่อมโยงเป็นประเด็นทางการเมือง และไม่ยอมรับผลการตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับที่เคยไม่ยอมรับการผลการตรวจสอบของ คตส. แม้หลายคดีจะตัดสินไปแล้วก็ตาม
"ส่วนเรื่องที่มีผู้เสนอให้แก้ไขกฎหมาย ป.ป.ง.และนำข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการฟอกเงินมาใช้แก้ปัญหากรณีโรลส์-ลอยซ์นั้น ท่านนายกฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียดว่าจะดำเนินการได้แค่ไหนอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีพอใจที่ทุกคนในสังคมเริ่มให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตมากขึ้น โดยยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลหรือไม่ได้รับโทษ และอยากเห็นการดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม แต่ทุกขั้นตอนจะต้องทำด้วยความรอบคอบและรับฟังข้อมูลรอบด้าน จึงอาจใช้เวลาบ้าง แต่เชื่อมั่นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติหน้าที่อย่างที่ดีสุดเพื่อประเทศชาติ