พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการสร้างความปรองดองว่า ไม่ได้มองเฉพาะเรื่องการเมือง แต่ต้องปรองดองทุกเรื่อง ทั้งความขัดแย้งจากการบริหารราชการแผ่นดิน การแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งการพูดคุยเพื่อสร้างความปรองดองคงไม่สามารถบังคับใครได้ ที่สำคัญการพูดคุยเพียงครั้งเดียวก็ไม่อาจได้ข้อยุติ จึงต้องใช้เวลาและพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนั้นไม่ควรมาเร่งรัดตอนนี้
ส่วนการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาร่วมหารือก็คงเริ่มในสัปดาห์นี้ ส่วนรายละเอียดต้องไปถามกระทรวงกลาโหม เพราะพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง
สำหรับการคัดสรรบุคคลเข้าสู่คณะกรรมการแต่ละชุด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้เอาเท่าที่ได้ทำงานไปก่อน เพราะไม่ได้หารือเพียงครั้งเดียว และมีหลายคณะ
"เมื่อได้ความเห็นก็นำมารวบรวม ถ้าตรงกันก็ไปได้ ถ้าไม่ตรงกันก็คุยต่อ การทำงานแบบนี้คือปรองดอง ไม่ใช่ให้ตนเองไปสั่งให้ปรองดองได้"
สิ่งที่จะเห็นจากการทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ภายใน 1 ปีนั้น นายกฯ กล่าวว่า ได้สั่งการอย่างชัดเจนถึงการทำงานของทุกคณะ ที่มีทั้งในส่วนงานฟังก์ชั่น เช่น ปัญหา อุปสรรคของแต่ละหน่วยงานที่ต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ และอีกส่วนคืองานบูรณาการของทุกหน่วยงานในการแก้ปัญหาแต่ละเรื่อง รวมถึงต้องสอดคล้องกับยุทธศาตร์ชาติที่มี 6 กลุ่มงาน ครอบคลุม ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดูแลสิ่งแวดล้อม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ขณะที่คณะกรรมการของสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) ก็จะทำหน้าที่ติดตามการดำเนินงานในด้านต่างๆ
ส่วนการประชุม คสช. เช้าวันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาในองค์กรตำรวจ แต่เป็นการหารือว่าจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 หรือไม่ เพื่อลดข้อครหาเกี่ยวกับระบบอุปถัมป์ หรือ การซื้อขายตำแหน่ง รวมถึงการพิจารณาแนวทางให้มีคณะกรรมการ หรือ บอร์ด พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายเป็นลำดับชั้น เนื่องจากการให้รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาทั้งหมด เป็นภาระงานที่หนักเกินไป
ด้านพล.ท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคสช.ช่วงเช้าว่า เป็นการพูดคุยการกำหนดแนวทางการออกมาตรา 44 เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ โดยมีหลักการไม่ให้มีการทุจริตการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง โดยคงเอาแนวทางกองทัพเป็นหลัก ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ในการแต่งตั้งเป็นลำดับ แต่อำนาจตัดสินใจสูงสุดอยู่ที่ผบ.ตร.
ทั้งนี้เมื่อมีหลักการแล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ไปศึกษาแนวทางเพื่อไปออกคำสั่งตาม มาตรา 44 วางกฎ กติกา เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาอย่างที่ผ่านมา