ผู้ตรวจการแผ่นดินเผยรายงานจริยธรรมช่วง 10 ปีพบนักการเมืองถูกร้องเรียนมากสุด 1 ใน 3

ข่าวการเมือง Wednesday February 1, 2017 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานเปิดงานสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "งานจริยธรรมในมุมมองของผู้ตรวจการแผ่นดิน"ว่า การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ตลอดจนประมวลผลงานของผู้ตรวจการแผ่นดินในการดำเนินงานด้านจริยธรรมกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งภารกิจด้านการดำเนินงานเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประสบความสำเร็จจากการได้รับความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆและภาคประชาชนช่วยกันหล่อหลอมให้เกิดจริยธรรม คุณธรรม ทั้งนี้ ยังสามารถนำแนวทางส่งเสริมจริยธรรมไปประยุกต์ใช้ในองค์กรต่างๆ รวมถึงให้ต้องการให้ประชาชนในสังคมไทยเกิดจิตสำนึก และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เกิดประโยชน์ต่อทั้งตนเองและส่วนรวม

พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ มาตราที่ 219 ระบุมอบหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ร่วมกันกำหนดมาตรฐานจริยธรรม รวมถึงใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระให้ดำเนินการร่วมกัน จึงเป็นเหตุให้ภารกิจด้านจริยธรรมของผู้ตรวจการแผ่นดินต้องยุติลง แต่ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินจะยังคงยึดหลักการด้านคุณธรรม จริยธรรม ในการดำเนินงานต่อไป

สำหรับภารกิจของผู้ตรวจการแผ่นดินตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ได้ตรวจสอบการจัดทำประมวลจริยธรรมของแต่ละหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีประมวลจริยธรรมแล้วกว่า 8,000 ฉบับ หรือกว่า 8,000 หน่วยงาน แต่ก็ยังมีอีก 5% หรืออีกกว่า 400 หน่วยงานที่ยังไม่มีการจัดทำประมวลจริยธรรม ซึ่งเรื่องนี้ผู้ตรวจการจะทำการตรวจสอบต่อไป

ส่วนหน้าที่การส่งเสริมจริยธรรมนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยอมรับว่าที่ผ่านมาเป็นเรื่องยากที่จะต้องนำนักการเมืองมาอบรมทำความเข้าใจด้านจริยธรรม

ทั้งนี้ จากรายงานการกระทำฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีนักการเมืองระดับชาติถูกร้องเรียนด้านจริยธรรมมากที่สุดถึง 194 ราย และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 112 ราย ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ กทม. และเจ้าหน้าที่เทศบาล อบต. และอบจ. บางส่วน ซึ่งจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องเรียนส่วนใหญ่มาจากฝ่ายการเมืองจากจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 339 เรื่อง เป็นเรื่องการเมืองระดับชาติเกือบ 200 เรื่อง หรือเทียบได้กับ 1 ใน 3 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด

พล.อ.วิทวัส ได้ยกตัวอย่างในการตรวจสอบด้านจริยธรรมของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ผ่านมา เช่น การร้องเรียนกรณีสมาขิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เสียบบัตรแทนกัน ซึ่งทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับมาตรวจสอบ จนนำไปสู่การถอดถอนและตัดสิทธิ์ทางการเมืองในที่สุด รวมถึงกรณีที่ ส.ส.ใช้โทรศัพท์มือถือดูภาพอนาจารในห้องประชุมรัฐสภา หรือกรณีที่ทีการร้องเรียนนายกรัฐมนตรีไม่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างว่ามีภารกิจส่วนตัว ซึ่งผู้ร้องเรียนมองว่าอาจเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ได้มีการดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ