นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา "เหลียวหน้า แลหลัง จริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ" โดยกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในระหว่างการแก้ไขตามพระราชอำนาจที่มีข้อสังเกตมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับการพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนมาเมื่อวันที่ 20 ม.ค.60 โดยจะต้องแก้ไขให้แล้วเส็จภายใน 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 ก.พ.นี้ โดยกระบวนการแก้ไขใกล้จะแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนวันที่ 18 ก.พ. โดยจะมีเวลา 90 วันก่อนที่จะมีพระราชทานโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญลงมา
นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ โรดแมพต่างๆ ก็จะเริ่มนับหนึ่งตามที่ได้ระบุไว้ โดยในเรื่องของจริยธรรมตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น จะเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องเชิญผู้แทนองค์กรอิสระทั้ง 5 องค์กร ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรรมการสิทธิมนุษยชน มาร่วมกันจัดทำมาตรฐานจริยธรรมให้เสร็จภายใน 1 ปี ถ้าหากไม่เสร็จตามกรอบระยะเวลา ทุกองค์กรต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด
ทั้งนี้ มาตราฐานจริยธรรมจะต้องรับฟังความเห็นจาก ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นมาตรฐานให้กับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ด้วย รวมถึงมาตรา 76 ของรัฐธรรมนูญที่ ระบุว่า รัฐจะต้องกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับหน่วยภายใต้การกำกับของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรมหาชน เพื่อนำไปทำประมวลจริยธรรมของแต่ละหน่วยงานอีกที
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า การที่จะทำให้มาตรฐานทางจริยธรรมมีความศักสิทธิ์ หรือมีผลบังคับใช้ได้จริงนั้น จำเป็นต้องมีการออกเป็นกฎหมายภายใต้การกำกับของ ป.ป.ช. โดยจะต้องมีการกำหนดโทษที่ชัดเจน หรือต้องระบุลงไปว่าจะเป็นหน้าที่ของศาลไหนในการพิจารณาความผิดแต่ละประเภท ส่วนมาตรฐานจริยธรรมที่รัฐบาลจะต้องกำหนดนั้น อาจจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการในหมวดวินัย หากไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมก็จะมีโทษความผิด ซึ่งอาจจะเป็นความผิดธรรมดา หรือฐานความผิดวินัยร้ายแรงก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าถ้ากำหนดเช่นนี้จะทำให้ประมวลจริยธรรมมีผลบังคับใช้จริง
สำหรับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมที่ปรับลดโทษจากการลงโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เหลือ 3 ชั่วโคตร นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการส่งร่าง พ.ร.บ.ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว และจะส่งเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป ซึ่งการปรับแก้ร่างกฎหมายได้กระทำตั้งแต่ 3 เดือนก่อนแล้ว จากเดิมที่ มี 7 ชั่วโคตร ลดมาเหลือ 3 ชั่วโคตร เพื่อจะได้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้ไปลงโทษผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วย
ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปรายปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า กระบวนการเดิมในการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะส่งเรื่องที่ได้กลั่นกรองแล้วมาให้กับป.ป.ช.พิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริงต่อไป และเมื่อมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมป.ป.ช.และมีมติถอดถอนก็จะส่งให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณาถอดถอนต่อไป ซึ่งรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมามีการถอดถอนไม่มากนัก และในรัฐบาลนี้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ถอดถอนไปแล้ว 1 ราย
ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้มีหน้าที่คัดกรองเรื่องจริยธรรมให้แก่ป.ป.ช.แล้ว โดยป.ป.ช.จะต้องรับเรื่องเอง และเมื่อมีมติจากคณะกรรมการป.ป.ช.ว่าถอดถอน ก็ไม่ต้องส่งเรื่องให้กับ ส.ว.พิจารณาแล้ว แต่จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณาแทน โดยผู้ที่ถูกร้องเรียนความผิดทางจริยธรรมจะต้องพักจากราชการจนกว่าจะมีมติเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หากมีมติถอดถอนก็ต้องออกจากตำแหน่ง เป็นต้น
ส่วนกรณีการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมขององค์กรอิสระ ตามมาตรา 76 ในรัฐธรรมนูญนั้น ป.ป.ช.ได้มีเขียนแก้ไขไว้ในร่างพระราชบัญญัติแล้ว โดยกำหนดกรอบเรื่องของระยะเวลาในการพิจารณาข้อร้องเรียนแต่ละกรณีว่ามีมูลมากพอหรือไม่ ในระยะเวลา 6 เดือน และอาจขอขยายได้อีก 3 เดือนหากมีเหตุจำเป็น ดังนั้นการแสวงหาความจริงจะมีระยะเวลาที่ชัดเจน โดยยืนยันว่า ป.ป.ช.จะให้ความยุติธรรมต่อผู้กล่าวหา เพราะถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยจะใช้เวลาในการไต่สวนคดีนั้น 2 ปี และสามารถขอขยายเวลาได้หากมีเหตุจำเป็น และหากมีมูล คณะกรรมการป.ป.ช จะมีมติส่งฟ้องให้ศาลฎีกาพิจารณาถอดถอนต่อไป
พล.ต.อ.วัชรพล ยืนยันว่า สิ่งที่ ป.ป.ช.มั่นใจในมาตรฐานจริยธรรม เมื่อมีการกล่าวหาข้าราชการที่ละเมิดจริยธรรมร้ายแรงนั้นคือตัวกรอบเวลาการทำหน้าที่ที่ชัดเจน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นเครื่องการันตีถึงกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใสและยุติธรรมให้กับสังคมได้ และขณะนี้ ป.ป.ช.มีพนักงานไต่สวนและเจ้าหน้าที่ชำนาญการ กว่า 900 คน ซึ่งหากสามารถเคลียร์คดีที่ค้างอยู่เดิมได้ ก็จะถือเป็นองค์กรที่มีคุณภาพและไม่เกินความสามารถที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสยุติธรรมได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทำผิดจริยธรรมเสียเอง จะมีคณะกรรมการผู้ไต่สวนอิสระเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ และผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่และไปสู่การพิจารณาถอดถอนที่ศาลฎีกาเช่นเดียวกับผู้ถูกร้องเรียนในหน่วยงานต่างๆ โดยไม่มีการละเว้น
ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มองว่า การมีจริยธรรมจะช่วยให้สามารถปราบปรามการทุจริตได้ เพราะการทุจริตในประเทศไทยเปรียบเหมือนโรคมะเร็งร้ายที่คอยกัดกินประเทศมานาน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าแต่ละองค์กรควรกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมเอาไว้ เพื่อไม่ให้ใครกล้าทำผิด เช่น หากทำผิด ควรมีการลงโทษทางวินัยขั้นต้นไปจนถึงผิดวินัยขั้นร้ายแรง นั่นคือ การไล่ออก และเรื่องจริยธรรม ควรปลูกฝังในขั้นอุดมการณ์เพื่อให้คนส่วนใหญ่นึกถึงประเทศเป็นหลัก เช่น หากมีการทำผิดอาญาในต่างประเทศ แต่กลับไม่มีความผิดในส่วนของอำนาจไทย ก็ควรให้ถือว่าผิดจริยธรรมร้ายแรง และสร้างความเสื่อมเสียให้ประเทศชาติ