30 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เข้ายื่นหนังสือต่อนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่หนึ่ง เพื่อคัดค้านร่างพ.รบ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สปท. โดยเรียกร้องให้ สปท.ชะลอการรับรองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ และทบทวนเนื้อหาให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ยังขอให้เปลี่ยนตัว พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ออกจากการทำหน้าที่เป็นประธาน กมธ.ฯ แล้วเลือกบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจต่อการปฏิรูปสื่อมวลชนมาทำหน้าที่แทน
นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า องค์กรสื่อมวลชนพร้อมเข้าสู่วาระการปฏิรูป แต่ต้องเป็นกลไกที่ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดำเนินการ เพราะมีความกังวลว่าจะถูกแทรกแซง และทำให้สถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนย้อนไปสู่ยุคมืด
ด้านนายอลงกรณ์ กล่าวว่า ตนเองจะรับข้อเสนอและข้อร้องเรียนขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าสู่การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แต่คำตอบที่ว่าจะชะลอการพิจารณารายงานและร่างกฎหมายดังกล่าวได้หรือไม่ ตนเองไม่สามารถตอบแทนได้ ดังนั้นขอให้รอฟังผลการพิจารณาหลังการประชุม
สำหรับหลักการในการพิจารณา จะยึดหลัก 5 ประการ คือ สิทธิ, เสรีภาพ, การทำงานโดยอิสระไม่ถูกแทรกแซง, จริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ, ความรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยถูกขับเคลื่อนออกมา 3 วาระ คือ วาระกำกับสื่อมวลชน, วาระสิทธิ เสรีภาพบนความรับผิดชอบ และวาระที่สื่อปลอดการแทรกแซง
รายงานข่าว แจ้งว่า เมื่อเวลา 11.30 น. นายจักร์กฤษณ์ เพิ่มพูน, น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข, นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ และ น.ส.อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ใน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. ต่อนางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.รบ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ...