นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ได้ดำเนินการไปตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ โดยระหว่างนี้ถือว่าดำเนินการไปล่วงหน้ารอรัฐธรรมนูญประกาศใช้จึงจะเริ่มต้นนับหนึ่งส่งไปได้ ส่วนจะเสร็จทันภายในปีนี้หรือไม่ยังบอกไม่ได้ ยังไม่รู้จะใช้เวลานานเท่าไร ข้อสำคัญคือเมื่อกฎหมายลูกออกมาแล้ว ยังต้องไปดูว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับพรรคการเมืองจะใช้เวลานานเท่าไรในการปรับให้เข้ากับเนื้อหาใหม่ ขณะนี้ อยู่ระหว่างกำลังพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งตัวร่างยาวมาก กำลังจะตัดให้สั้น มันยาวเกินความจำเป็น ด้านผู้ตรวจการแผ่นดินก็ทำไปแล้ว จะรับฟังความเห็นวันที่ 15 ก.พ. ส่วนการทำงานร่วมกันระหว่าง กสม.และผู้ตรวจฯ นั้นเริ่มวางความคิดว่าถ้าเรื่องใกล้เคียงกัน ให้ตกลงกัน ให้มีคนทำคนเดียว
"ทุกวันนี้แต่ละหน่วยงานทำเหมือนกันหมด มีคนไปร้อง กสม.พอผลออกมาไม่พอใจก็ไปร้องผู้ตรวจฯ ไม่พอใจก็ไปต่อ ป.ป.ช. ไม่พอใจก็ไป สตง.อีก ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน" นายมีชัย กล่าว
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. กล่าวว่า สัปดาห์นี้กรธ.ได้พิจารณาร่างกฎหมายป.ป.ช. โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้น คือ จะไม่บัญญัติให้มีป.ป.ช.ประจำจังหวัดตามเนื้อหาของร่างกฎหมายที่ถูกส่งเข้ามา เพราะกรธ. วางเจตนาของกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ การกำกับและควบคุมโดย ป.ป.ช.ส่วนกลาง ที่เน้นทำเรื่องการเมืองระดับสูง ขณะที่ประเด็นย่อยหรือท้องถิ่นนั้นเป็นสิ่งที่ ป.ป.ช. สามารถส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการได้
นายอุดม กล่าวว่า ส่วนกรณีที่อาจถูกทักท้วงว่าเมื่อไม่มี ป.ป.ช.จังหวัดแล้ว อาจทำให้การหาข้อมูลระดับพื้นที่หรือการตรวจสอบเชิงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือ ป.ป.ช.ส่วนกลางอาจจะหายไปนั้น ส่วนตัวคิดว่าเมื่อป.ป.ช.กลางต้องการข้อมูลสามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือคณะบุคคลเข้าไปดำเนินการตามภารกิจได้