นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผ่านนายพงศ์กิตติ์ อรุณภักดีสกุล รองเลขาธิการวุฒิสภา ให้ตรวจสอบจริยธรรมสมาชิก สนช.รวม 7 คน กรณีมีพฤติการณ์เข้าข่ายขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 9 (5)
"ยุคปฏิรูปต้องเสียสละเวลามาทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีความสำคัญ หากมีพฤติการณ์ไม่มาร่วมประชุม ประชาชนจะพึ่งใครได้" นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนเองไม่ได้มองแค่ สนช.ทั้ง 7 คน เท่านั้นที่มีปัญหา หากตรวจสอบ สนช.คนอื่นๆ อาจพบว่า มีพฤติการณ์ไม่ต่างจาก สนช.ทั้ง 7 คนด้วย ดังนั้นหากใครไม่เข้าร่วมประชุมในการลงมติ ขอให้ยื่นใบลาออกจาก สนช.เพราะเป็นการกินเงินภาษีของประชาชน ขณะที่ยังมีคนมีความรู้ความสามารถพร้อมเข้ามาทำหน้าที่แทนมากมาย
"อยากให้ สนช.ทั้ง 7 คนแสดงสปิริตลาออก หากไม่มาทำงาน และคืนเงินเดือนให้ประชาชน ส่วนข้ออ้างมีภารกิจมาก จนลงไม่มติไม่ได้นั้น ฟังไม่ขึ้น อย่ามาอ้างสวมหมวกหลายใบ ถ้าขาด 1-2 ครั้ง ยอมรับได้ แต่ไม่ใช่ขาดมากมายหลายครั้ง" นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เรื่องนี้นายพรเพชร ต้องพิจารณาด้วยว่าการกระทำดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ หากยังยอมรับว่า การลาดังกล่าวมีความถูกต้อง ในสัปดาห์หน้าตนเองจะไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบนายพรเพชรในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช.ในฐานะกรรมการสอบจริยธรรม สนช. กล่าวว่า การสอบจริยธรรมของสมาชิก สนช.ทั้ง 7 คนที่ขาดประชุม ต้องรอให้มีการการส่งเรื่องมาถึงคณะกรรมการฯ ก่อน จากนั้นจะมีขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล อย่างไรก็ตามเพื่อความรอบคอบจะมีการตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลหรือไม่ หากมีมูลทางกรรมการสอบก็จะพิจารณาสอบสวนต่อไป
หากกรณีที่สมาชิก สนช.ทำผิดกฎระเบียบ ก็จะมีการขั้นการลงโทษตั้งแต่การตัดเงินประจำตำแหน่งไปจนถึงการพ้นสมาชิกภาพ ส่วนที่มองว่าหากสมาชิก สนช.ตรวจสอบกันเองอาจจะไม่มีความโปร่งใสนั้น เราก็ต้องดำเนินการไปตามกฎกติกา อย่างไรก็ตามผู้ร้องสามารถยื่นเรื่องไปที่หน่วยงานอื่นอีกมากให้ตรวจสอบได้อยู่แล้ว