ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณด้านนอกทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และนักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน ซึ่งคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประมาณ 200 คน นำโดยนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และ จ.สงขลา ได้ชูป้ายคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ริมทางเท้าด้านหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล และทำกิจกรรมเดินไปรอบทำเนียบรัฐบาล 1 รอบ จากสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ผ่านสะพานมัฆวาน เลี้ยวซ้ายเลียบคลองผดุงกรุงเกษม ถึงแยกเทวกรรม นางเลิ้ง เลี้ยวซ้ายกลับมายังสะพานชมัยมรุเชษฐ์ เพื่อรอฟังผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมีกำลังตำรวจคอยดูแลให้อยู่ในความเรียบร้อย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวก่อนเป็นประธานการประชุม กพช. ว่า สำหรับการประชุมในวันนี้จะมีการหารือหลายวาระที่สำคัญ ทั้งการหาทางออกและความชัดเจนเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ โดยกระทรวงพลังงานเตรียมเสนอที่ประชุมฯ ถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่บริเวณรอบโรงไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเลื่อนกรอบระยะเวลาการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งที่จะหมดอายุในปี 65-66 ออกไปอีก 1-2 เดือน จากเดิมที่กำหนดให้ประมูลเสร็จในเดือน ก.ย.60 รวมถึงการพิจารณาแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใหม่ เป็นรูปแบบผสมผสานการผลิตไฟฟ้าต่าง ๆ ตามสัญญาที่ได้รับจากภาครัฐ หรือเรียกว่าแบบไฮบริด
"ต้องมีกระบวนการพัฒนาแนวคิดแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานของโลก เนื่องจากประเทศไทยเผชิญปัญหาเรื่องพลังงานมาตลอดจึงจำเป็นต้องแก้ไขให้ได้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานในทุกภูมิภาค ซึ่งจะต้องระมัดระวังด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและดูผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า และทุกอย่างต้องดำเนินตามแผน PDP ของประเทศที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ขอให้กระทรวงพลังงานชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อคลายข้อสงสัยต่างๆ"