พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการเปิดหลักสูตร การบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "โครงสร้างและแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.)" โดยระบุว่า ข้าราชการเป็นหัวใจสำคัญในการเดินหน้าประเทศ และขอให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยยืนยันว่าส่วนตัวมีความจำเป็นที่มายืนอยู่ตรงนี้ เพื่อพูดกับทุกคน เพราะในฐานะที่เคยเป็นข้าราชการเก่า จึงรู้ว่าข้าราชการมีส่วนสำคัญในการเดินหน้าประเทศในอนาคต ขอให้ทุกคนต้องมาช่วยกันเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่แค่วันนี้แต่ต้องทำต่อไปในอนาคต
ดังนั้นหลักสูตรการอบรม ป.ย.ป.ไม่ใช่แค่หลักสูตรการอบรมแล้วจบ หรือมีการไปดูงานที่ต่างประเทศ แต่เป็นการอบรมเพื่อพัฒนาต่อข้าราชการทุกคนให้เป็นผู้นำทางความคิด นำนโยบายของ ป.ย.ป.ไปขับเคลื่อนต่อในทุกระดับให้ได้ และให้ประสบผลสำเร็จ จับต้องได้จริง และต้องเกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องสร้างการรับรู้ที่ดี ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ของสถานการณ์โลกที่วันนี้ แม้เปลี่ยนตัวผู้นำบางประเทศ โลกก็เกิดความวุ่นวาย ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลก
"ข้าราชการคือตัวแปรสำคัญ และรัฐบาลจะเป็นสะพานให้ประชาชนได้ก้าวข้ามแม่น้ำที่เชี่ยวกราก หลุดพ้นจากการติดกับดักของประเทศ โดยเฉพาะจุดต่างของคำว่าประชาธิปไตยและอนาธิปไตย ที่ประเทศไทยจะต้องแยกแยะให้ได้ ซึ่งการที่รัฐบาลออกกฎหมายมานั้น ไม่ใช่เป็นการกำจัดใคร แต่เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน เพราะกฎหมายถือเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามและทุกคนมีส่วนร่วม" นายกรัฐมนตรี ระบุ
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงถึงที่มาของคำว่า ป.ย.ป.ว่า ไม่ใช่ "ประยุทธ์อยู่ต่อไป" แต่เป็นคำที่ตั้งใจคิดขึ้นมาเพื่อให้เกิดความครอบคลุมในการที่ข้าราชการจะต้องนำหลักการไปปฏิบัติ โดยจะต้องมองหาข้อเท็จจริงจากข้อมูลเชิงประจักษ์ และมีหลักคิดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งในวันนี้ยอมรับว่าโซเซียลมีเดียส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสังคม เพราะมีทั้งเรื่องดีและไม่ดี จนทำให้เกิดความสับสนอันเกิดมาจากการขาดหลักคิดและการไตร่ตรอง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาของประเทศขณะนี้มี 3 เรื่อง คือ เรื่องประชาธิปไตยที่มีความเห็นที่แตกต่าง, เรื่องความเหลื่อมล้ำและปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงรายได้และความเป็นอยู่ และเรื่องการขาดหลักคิดที่ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาการศึกษาพัฒนาความคิดให้มีหลักคิดที่ถูกต้อง ถ้าหากแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ทั้งหมด ประเทศไทยคงจะได้เป็นประเทศมหาอำนาจไปแล้ว
ขณะเดียวกันรัฐบาลให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะดูแลทั้งฐานราก เศรษฐกิจขนาดใหญ่ และแม้รัฐบาลจะเดินหน้า 4.0 ก็จะยังดูแลประชาชนในระดับ 3.0 และ 2.0 ด้วย แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องใช้จ่ายในการลงทุน โดยจะทำควบคู่กับเศรษฐกิจฐานรากให้ก้าวพ้นกับดักประเทศปานกลางและลดความขัดแย้งให้ได้
"ถ้าหากเอาความขัดแย้งมาแก้ก่อน คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ วันนี้มองว่าบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น ส่วนจะยุติความขัดแย้งในอนาคตได้อย่างไรนั้น ป.ย.ป.จะเป็นส่วนสำคัญที่จะหาทางออกในเรื่องนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยังขอให้ทุกคนทำงานเต็มศักยภาพ และมีเกียรติ ช่วยสร้างความเข้าใจและทำความดีให้กับแผ่นดินให้มากที่สุด เพราะในปี 2560 ถือเป็นปีสำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ซึ่งตนไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง และจะพยายามทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด โดยต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมและเสนอความเห็น
พร้อมกันนี้ ยังได้ชี้แจงถึง 10 ประเด็นของยุทธศาสตร์และนโยบายที่ ป.ย.ป. ที่เน้นการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 การสร้างวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การพัฒนาเกษตรกร อุตสาหกรรมและภาคบริการตามเป้าหมาย เสริมสร้างความเข้มแข็งผ่าน 18 กลุ่มจังหวัด และ76 จังหวัด และเชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก รวมถึงวาระการปฏิรูปขับเคลิ่อนประเทศใน 27 ด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างอุตสาหกรรมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและวางแผนงานให้เป็นรูปธรรม หากเกิดอุปสรรคให้เสนอขึ้นมา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป
โดยท้ายสุดนายกรัฐมนตรี ได้ฝากให้ข้าราชการต้องทำงานในการพัฒนาควบคู่กับการปกครองด้วยความโปร่งใส สุจริต และเป็นธรรม และมีศีลธรรมอันดีด้วย
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 แห่งร่างรัฐธรรมนูญไทย" ว่า การประชุมวันนี้เป็นการปฐมนิเทศผู้ที่จะเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ ตามดำรินายกรัฐมนตรีจำนวน 1,200 คน ก่อนแยกย้ายไปเข้าอบรมตามหลักสูตรต่างๆ อาทิ หลักสูตรสำหรับอธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และระดับท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของหลักสูตรดังกล่าวก็เพื่อให้ผู้บริหารสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจของการบริหารราชการแผ่นดิน ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดองเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้ พัฒนากระบวนการทางความคิด และศักยภาพผู้นำ และสร้างการบูรณาการในรูปแบบของประชารัฐระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายวิษณุ กล่าวว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลไม่ว่ายุคใดสมัยใดหรือในอนาคต ภารกิจสำคัญคือการบริหารประเทศต้องทำเรื่องการปกครองและพัฒนา การทำตามกฎหมายและรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ภัยพิบัติ หรือ การก่อการร้าย เป็นต้น ซึ่งปัญหาเฉพาะหน้านั้นเป็นสิ่งที่ควรแก้เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้อยู่ในแผนงานที่กำหนดไว้
สำหรับการปฎิรูปประเทศในอดีต ไม่เคยมีกฎหมายเขียนบังคับให้ทำมาก่อน รัฐบาลที่ผ่านมีเพียงความอยากจะทำ แต่รัฐบาลนี้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำโดยกำหนดการปฎิรูป 7 ด้าน ประกอบด้วย ปฎิรูปการเมือง, ปฎิรูประบบราชการ, ปฎิรูปกฎหมาย, ปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม, ปฎิรูปการศึกษา, ปฎิรูปเศรษฐกิจ และปฎิรูปอื่นๆ โดยมีระยะเวลาที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่รัฐบาลใหม่ต้องทำตาม ป.ย.ป. เพราะกำหนดเรื่องปฎิรูปไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และได้กำหนดให้สอดคล้องกับยุทธศาตร์ชาติ 20 ปีที่วางแนวทางการดำเนินการตามกรอบไว้
นอกจากนี้ยังต้องมีการสร้างความสามัคคีปรองดองควบคู่ไปด้วย โดยรัฐบาลมีกลไกมาช่วยคือการตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป.แบบย่อยลงไปอีก 4 ชุดตามภารกิจ ได้แก่ 1.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ทำหน้าที่บริหาร เรื่องใดทำได้ส่งให้ปยป.ดำเนินการ แต่เรื่องใดทำไม่ได้ส่งเข้า ครม.และ คสช.ตามเรื่องนั้นๆ 2.คณะกรรมการเตรียมการด้านการปฎิรูป 3.คณะกรรมการเตรียมการด้านยุทธศาสตร์ 4.คณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดย 4 ชุดนี้เป็นคณะกรรมการชุดเล็กที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการ ป.ย.ป.ชุดใหญ่ โดยเชื่อว่าวิธีการออกแบบการทำงานแบบนี้จะขับเคลื่อนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าดารขับเคลื่อนชุดใหญ่เพียงชุดเดียว
สำหรับระดับที่ลดหลั่นลงมาคือกระทรวง จังหวัด สามารถนำรูปแบบในระดับชาตินี้ไปใช้ในกระทรวงและหน่วยงานโดยใส่ภารกิจของตัวเองเข้าไปและทำเท่าที่ทำได้ โดยการจำลองรูปแบบ ป.ย.ป.และการปฎิรูปทั้ง 7 ด้านในรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย วันนี้จึงอยากเห็นยุทธศาตร์ของแต่ละกระทรวงที่จะออกมาสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายวิษณุ กล่าวว่า แต่ละหลักสูตรที่มีการอบรมนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่าต้องไม่เน้นการบรรยายมากนัก แต่ต้องเน้นการตั้งคำถามและร่วมกันหาคำตอบ โดยต้องใช้เวลาไม่มากและไม่มีการไปดูงานในต่างประเทศ