พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเก็บภาษีเงินได้จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) ให้กับกองทุนเทมาเส็กเมื่อปี 49 มูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 31 มี.ค.นี้ว่าได้มอบหมายให้กรมสรรพากรไปติดตามเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งรัฐบาลต้องรอฟังรายงานสรุปอีกครั้ง
ด้านนายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรวันนี้มีความเห็นพ้องกันว่าไม่สามารถขยายเวลาการออกหมายเรียกผู้ยื่นแบบชำระภาษีที่ยังค้างชำระภาษีไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องออกไปจากกำหนดเดิม 5 ปีได้ เนื่องจากในเจตนารมย์ของประมวลกฎหมายรัษฎากร ต้องการให้กรมสรรพากรเร่งดำเนินการตามกระบวนการในการสืบสวนและออกหมายเรียก เพื่อให้บุคคลมาเสียภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด
"การประชุมในครั้งนี้กรมสรรพากรได้หารือว่าจะสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 3 อัฎฐ วรรคสอง ของประมวลรัษฎากร ที่ระบุว่ากำหนดเวลาต่างๆ ที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร เมื่อมีเหตุสมควรหรือจำเป็น และรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลานั้นออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีได้ เพื่อขยายเวลาในการออกหมายเรียกให้บุคคลเพื่อประเมินการเสียภาษีได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าไม่อาจขยายเวลาได้ และเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน จึงได้มอบหมายให้กรมสรรพากรกลับไปร่างคำวินิจฉัยของที่ประชุมในวันนี้ เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้กับทุกคน"นายประภาศ กล่าว
วันนี้ กรมสรรพากรได้ขอหารือกับที่ประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร เพื่อให้พิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการตามมาตรา 19 ในประมวลรัษฎากรที่ระบุว่ากรณีที่ผู้ยื่นแบบเสียภาษี แต่เสียภาษีไม่ครบ ไม่ถูกต้องตามความจริง หรือไม่บริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวนภายในเวลา 5 ปี และกรมสรรพากรมีอำนาจประเมินภาษีในระยะเวลา 10 ปี และหากกรมสรรพากรไม่ออกหมายเรียกภายใน 5 ปี ก็จะไม่มีอำนาจการประเมินภาษี
นายประภาศ ยืนยันว่าการหารือของคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติกับผู้เสียภาษีทุกราย ไม่ได้เจาะจงลงไปกับการเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ ของอดีตนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่การเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรที่จะดำเนินการว่าจะประเมินภาษีหรือไม่ และการประชุมในครั้งนี้ก็ไม่ได้มีการพิจารณาถึงกรณีหุ้นชินคอร์ปแต่อย่างใด ดังนั้น รายละเอียดในเรื่องดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ในขอบเขตของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
"การประชุมของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรในครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับกรณีหุ้นชินคอร์ป แต่เป็นการประชุมเพื่อหาข้อยุติที่ชัดเจนตามข้อกฎหมายว่าหากเจ้าหน้าที่ไม่ออกหมายเรียกเพื่อประเมินภาษีภายในระยะเวลา 5 ปีตามที่กำหนด ก็ไม่สามารถประเมินภาษีได้ ส่วนคดีหุ้นชินคอร์ปนั้น คงต้องไปดูในรายละเอียดว่ามีเหตุอันควรหรือไม่ ซึ่งไม่ขอก้าวล่วงเกี่ยวกับข้อวินิจัยในส่วนนี้" รองปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ
สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไม่ออกหมายเรียกภายใน 5 ปี และทำให้ประเมินภาษีไม่ได้จะมีความผิดละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น นายประภาศ กล่าวว่า ต้องไปพิจารณาว่าหากเจ้าหน้าที่รู้อยู่แล้วว่าต้องออกหมายเรียก แต่ไม่ดำเนินการก็ถือว่ามีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในส่วนนี้ต้องไปดูในรายละเอียดเชิงลึกประกอบด้วย
อย่างไรก็ดี กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปของนายทักษิณเกิดขึ้นในปี 49 และต้องยื่นแบบภายใน 31 มี.ค.50 ซึ่งนายทักษิณ ไม่ได้แสดงรายได้ที่เกิดจากการขายหุ้นเพื่อเสียภาษี ทั้งนี้ การประเมินภาษีจะหมดอายุความในวันที่ 31 มี.ค.60 และก่อนหน้านี้กรมสรรพากรไม่เคยออกหมายเรียกนายทักษิณภายใน 5 ปี