เพื่อไทย แนะ 6 หลักการปรองดอง ตั้งคกก.อิสระเดินหน้า-ไม่เสนอนิรโทษกรรม

ข่าวการเมือง Wednesday March 8, 2017 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวว่า ตัวแทนพรรคเพื่อไทยได้เข้าให้ข้อมูลในวันนี้ เพื่อเดินหน้าการสร้างความปรองดองสู่กระบวนการประชาธิปไตย โดยเสนอเอกสารหลักการและแนวทางการปรองดองต่อให้พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง

ข้อเสนอแนะของพรรคเพื่อทืย ประกอบด้วย 6 ประเด็น ได้แก่ 1. ปัจจัยที่จะทำให้การปรองดองเกิดความสำเร็จ ประการแรก คือ ความจริงใจของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นหลัก ตามมาด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ประการที่สอง ความเข้าใจและการมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องต่อความหมายและกระบวนการปรองดอง โดยผู้รับผิดชอบควรมีความเป็นกลาง มีอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำและสั่งการของฝ่ายใด ประการสุดท้าย การปราศจากอคติของบุคคลที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คสช. องค์กรนิติบัญญัติ ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ไม่เช่นนั้นความปรองดองจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย เพราะผู้คนขาดความไว้วางใจในกลไกของรัฐ

2. การปรองดองและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมเช่นไร ชาติต่างๆ ในสังคมโลกเกือบทั้งหมดรวมทั้งชาติไทยยอมรับหลักการ “ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย" ถ้าทุกฝ่ายยอมรับและปฏิบัติตามการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะเป็นไปอย่างสันติ แต่หากมีปัญหาที่ว่ารัฐบาลหรือรัฐสภาหรือองค์กรใดใช้อำนาจของประชาชน ไม่ได้ใช้อำนาจ“เพื่อประชาชน"จะมีวิธีการและกระบวนการเช่นใดจัดการกับปัญหาดังกล่าว เพื่อให้สังคมยังเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและสันติ ซึ่งทุกองค์กรของรัฐต้องยึดหลัก “นิติธรรม"อย่างเข้มงวด และการให้อภัยต้องเป็นไปในแนวทางที่ผู้ที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้ง ต้องเลิกคิดและหาประโยชน์จากความขัดแย้ง ต้องไม่ย่ำยีผู้ที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้งอีก ขณะเดียวกัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือเหยื่อของความขัดแย้งก็ต้องปรับจิตใจตนเอง โดยยอมรับการให้อภัยต่อผู้ที่กระทำต่อตน ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรมที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์

3. ต้องค้นหาสาเหตุของความขัดแย้งเพื่อการยอมรับและนำไปสู่การแก้ปัญหาไม่ใช่เพื่อการประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในเบื้องต้นต้องยอมรับว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากบางพวกบางกลุ่ม แต่แทบทุกฝ่ายล้วนเข้าไปมีส่วนไม่มากก็น้อย จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องรับฟัง ยอมรับในความผิดพลาดและให้อภัยซึ่งกันและกัน ลบความคิดแบบอคติออกไปให้หมด การค้นหาสาเหตุควรเริ่มจากรายงาน หรือผลการศึกษาที่องค์กรต่าง ๆ จัดทำขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ และศึกษาเพิ่มเติม ถ้ายังมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง

4. การกำหนดคู่ขัดแย้งต้องพิจารณาให้รอบด้าน หากพิจารณาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม คือความขัดแย้ง ระหว่าง ชนชั้น นำทางเศรษฐกิจจำนวนไม่กี่ตระกูลที่ครอบงำระบบเศรษฐกิจของประเทศ และชนชั้นล่างจำนวนมหาศาลที่สิ้นหวังและต้องการความช่วยเหลือ หรือหากพืจารณาจากประเด็นอำนาจ คือ ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจจำนวนน้อยมากที่ได้ประโยชน์และใช้อำนาจแฝงผ่านทางพรรคการเมือง กองทัพ และระบบราชการ, กองทัพและระบบราชการที่ต้องการมีอำนาจเพื่อประโยชน์ของตัวเอง แม้จะไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม, พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ต้องการได้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีการซื้อเสียง มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีการทุจริตคอรัปชั่น, ประชาชนที่ต้องการใช้อำนาจของตนผ่านการเลือกตั้ง ประชามติ เสนอร่างกฎหมายฯลฯ

แต่หากพิจารณาอย่างแคบเพื่อโทษบางกลุ่มบางพวก ก็จะมุ่งไปที่ หนึ่ง สองพรรคการเมืองใหญ่ สอง กลุ่มอิทธิพลใหญ่คือ กลุ่มเสื้อเหลืองกับกลุ่ม กปปส. และกลุ่มคนเสื้อแดง ดังนั้นจึงต้องไม่พิจารณาแบบอัตวิสัยเพื่อโทษบางคนบางกลุ่ม

5. กระบวนการในการสร้างความปรองดอง ควรพิจารณาเป็นขั้นตอน คือ การพิจารณาและยอมรับในสาเหตุร่วมกัน การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม การสถาปนาหลักนิติธรรมที่แท้จริงขึ้นในกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใดที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักดังกล่าว ตลอดจนการบังคับใช้หลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ การนำเอากระบวนการยุติธรรมเพื่อการสมานฉันท์มาใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ การเยียวยาผู้ได้รับความอยุติธรรมด้วยหลักนิติธรรม

การรณรงค์ให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายถูกกระทำด้วยความอยุติธรรมให้อภัยผู้กระทำ ไม่มีการแก้แค้น และกำหนดแผนและขั้นตอน (โรดแมป) ร่วมกันในการดำเนินการ การหามาตรการเสริม “หลักนิติธรรม" เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต เช่น การตรวจสอบและปฏิรูปศาลและองค์กรอิสระเพื่อให้ผู้พิพากษาและกรรมการองค์กรอิสระมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง การส่งเสริมและควบคุมให้สื่อต่างๆ ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ไม่ยุยงหรือสร้างความเกลียดชัง แม้แต่กองทัพและระบบราชการก็ต้องทำหน้าที่ของตนตาม “หลักนิติธรรม" ไม่ใช้การรัฐประหารเพื่อแก้ไขปัญหา

6.ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการดำเนินการเรื่องการปรองดองในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้การดำเนินการได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชน ควรจัดตั้ง “คณะกรรมการอิสระ" ที่มาจากทุกภาคส่วนมาเป็นผู้ดำเนินการปรองดอง โดยไม่อยู่ภายใต้การสั่ง หรือครอบงำของฝ่ายใด ต้องเปิดโอกาสให้นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ได้มีโอกาสร่วมเสนอความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้อย่างเสรี ผ่านทางช่องทางต่างๆ อย่าให้การรับฟังความคิดเห็น เป็นเพียงพิธีกรรมและเลือกปฏิบัติ ผลสรุปของแนวทางการสร้างความปรองดอง ต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันบนพื้นฐานของการคำนึงถึงคุณค่า และศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเท่าเทียม ผูกพันกับหลักประชาธิปไตย และหลักนิติธรรมที่เป็นสากล ไม่ใช่เกิดจากการบังคับด้วยอำนาจ

พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีการเสนอการให้อภัยซึ่งกันและกัน แต่ไม่ได้พูดถึงการนิรโทษกรรม

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะนำความคิดเห็นและข้อมูลทั้งหมดของทุกพรรคการเมือง ทั้งประสบการณ์ องค์ความรู้ ทำให้เกิดประโยชน์ในกระบวนการปรองดองให้สัมฤทธิ์ผลเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยการทำงานของคณะอนุกรรมการ รับฟังความคิดเห็นจะเชื่อมโยงกับคณะกรรมการจัดทำความเห็นร่วม โดยมี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน และส่งผ่านไปยัง คณะจัดทำข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะ โดยมี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วจะเสนอข้อมูลรวมถึงร่างสัญญาประชาคม สู่คณะกรรมการ ป.ย.ป.ชุดใหญ่พิจารณาอีกครั้ง ดังนั้นในการพิจารณาได้ใช้ดุลพินิจร่วมกัน ใช้ทั้งองค์คณะที่ปรึกษา นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ