สนช.ไม่ให้"สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล"ยื่นพยานหลักฐานเพิ่ม นัดแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอน 16 มี.ค.นี้

ข่าวการเมือง Thursday March 9, 2017 13:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้พิจารณากระบวนการถอดถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง กรณีออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยที่ประชุม สนช. ได้กำหนดวันแถลงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และนายสุรพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหา ในวันที่ 16 มี.ค.

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานของนายสุรพงษ์ จำนวน 2 คำขอ 5 รายการ ได้แก่ 1.หนังสือของสำนักงาน ป.ป.ช. เรื่องขอทราบผลการตรวจสอบการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนให้แก่ นายภักดี โพธิศิริ 2.หนังสือของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง ขอทราบผลการตรวจสอบการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนให้นายภักดี โพธิศิริ 3.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 10 เมษายน2555 4.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 และ 5.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559

นายสุรพงษ์ ได้ชี้แจงเหตุผลการขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานว่า การเพิ่มเติมหนังสือเรื่องการตรวจสอบการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนของนายภักดี เนื่องจากนายภักดีได้ร่วมลงมติชี้มูลว่าตนเองมีความผิด แต่เมื่อตรวจสอบพบว่า นายภักดีขาดคุณสมบัติการเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งแต่ต้น ซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินชี้ว่า นายภักดีไม่ได้ลาออกจากการเป็น กรรมการบริษัท องค์การเภสัชกรรมเมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด ภายใน 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด

ด้านน.ส.สุภา ปิยะจิตติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. คัดค้านการขอเพิ่มเติมพยานหลักฐาน พร้อมชี้แจงว่า นายสุรพงษ์ได้เคยขอยื่นหลักฐานนี้ต่อ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช.เห็นว่า เอกสารดังกล่าวไม่เกี่ยวกับคดีนี้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.ได้มีมติไม่อนุญาตให้นายสุรพงษ์เพิ่มเติมพยานหลักฐานทั้ง 5 รายการ และมีมติไม่ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานอันจำเป็นของคู่กรณี เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่า ไม่ใช่คดีที่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ