นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมแกนนำ อาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นางธิดา ถาวรเศรษฐ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์, นายอารีย์ ไกรนรา, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายนิสิต สินธุไพร, นายเกริกมนตรี รุจโสตถิรพัฒน์ และ นายศักดิ์ระพี พรหมชาติ เข้าร่วมหารือเสนอแนะเรื่องการปรองดองต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง
แกนนำ นปช.ได้ยื่นเอกสารข้อเสนอแนะแนวทางการปรองดอง พร้อมตอบคำถาม 11 ข้อ ด้านการเมือง, ความเหลื่อมล้ำ, กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, สังคม ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข, สื่อสารมวลชน, ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, การต่างประเทศ, การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น, การปฏิรูป, ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวม 24 หน้า
โดยเนื้อหาเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศใช้คำสั่งที่เปิดจากคณะรัฐประการทุกฉบับ รวมถึงคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชน พร้อมทั้งเรียกร้องการใช้กฎหมาย การปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมในประเทศให้มีหลักนิติธรรมแท้จริงและยึดโยงกับประชาชน
“ทุกฝ่ายต้องจริงใจและสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมแก่การปรองดอง หยุดวาทกรรมแห่งความเกลียดชังและอารมณ์ ใช้หลักการเหตุผลและข้อมูลที่ถูกต้อง โดยการทำความจริงให้ปรากฏโดยมีคณะกรรมการที่น่าเชื่อถือทั้งในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ และมีองค์ความรู้ในการทำการปรองดอง เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ นปช.จึงมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ประกาศ คำสั่ง และมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่มุ่งหวังจะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชน"
ส่วนการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นเรื่องอนาคต ถ้าปัจจุบันยังขัดแย้งกันโดยผู้มีอำนาจไม่ยอมเข้าใจสาเหตุของปัญหาและไม่ยอมแก้ปัญหา ไม่ยอมเยียวยา จะเดินหน้าในฐานะผู้ได้เปรียบ ก็ไม่อาจจะทำให้ประเทศชาติไปตามที่หวังได้แน่นอน จะอยู่ในวัฏจักรของความไร้เสถียรภาพทางการเมือง สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการลุกลามไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายจนไม่ใช้สันติวิธีอีก
"ถ้าการปรองดอง การปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดำเนินไปตามความต้องการของฝ่ายที่ยึดอำนาจจากประชาชน และยังใช้เป็นเหตุผลที่ยึดเวลาอยู่ในอำนาจต่อไปยาวนาน จะเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม" นปช.ระบุ
นปช. เสนอประเด็นปฏิรูปเร่งด่วน คือ การปฏิรูประบบราชการทหารพลเรือน, องค์กรอิสระ, กระบวนการยุติธรรม, การศึกษา, ระบบตรวจสอบแบบสากลที่ได้มาตรฐาน ด้านเศรษฐกิจต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ความล้าหลังในภาคการผลิต, และรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ ต้องอยู่ในแนวทางและบรรยากาศของรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย อันยึดโยงกับประชาชน
นปช. เสนอว่า การแก้ไขปัญหาให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุขต้องสร้างการยอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบโลกเสรีประชาธิปไตยและกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิพลเมืองต่าง ๆ ต้องสร้างนิติรัฐนิติธรรมบนพื้นฐานความเท่าเทียมของคน ต้องมีการปรองดองตามหลักการและทำให้ความจริงปรากฏ และต้องเยียวยาผู้สูญเสียในอดีตอย่างเหมาะสมในด้านต่าง ๆ
รวมทั้งคดีความตลอดจนการลดเงื่อนไขความขัดแย้งในอนาคต เพื่อระงับความขัดแย้งรุนแรงในอนาคตเราเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนจากอำนาจประชาชนและยกเลิกประกาศ คำสั่ง ระเบียบ ที่เกิดจากคณะรัฐประหารทุกฉบับที่ยังมีผลใช้อยู่ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปบรรดากฎหมายที่ขัดหลักนิติธรรมและไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งเข้าสู่กระบวนการปรองดองตามหลักการรวมทั้งกองทัพ และ คสช.
ด้านพล.อ.ต.รังสรรค์ เยาวรัตน์ ผู้ช่วยโฆษกกลาโหม กล่าวว่า ในภาพรวมพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองให้ความร่วมมือในการเสนอความคิดเห็นเป็นอย่างดี และมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสร้างสรรค์
สำหรับการหารือวันนี้ ทางนปช. ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรม
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้พูดคุยมาแล้ว 46 พรรค และ 1 กลุ่มการเมือง คือ นปช. และในวันที่ 17 มี.ค.จะเชิญตัวแทนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เข้าหารือ หลังจากนั้นจะเชิญภาคประชาสังคม มาแสดงความเห็นต่อไป