นายกฯ ไฟเขียวเช็คบิลนักการเมืองเลี่ยงภาษี-สั่งสอบ จนท.ละเลยเก็บภาษีหุ้นชิน

ข่าวการเมือง Friday March 17, 2017 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเตรียมแจ้งกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีจากนักการเมืองอีก 60 รายในยุครัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากพบรัฐมนตรีบางคนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจำนวนมากหลังพ้นตำแหน่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งเฉพาะเงินเดือน ไม่ได้นำทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาคำนวณภาษีว่า เมื่อมีการส่งเรื่องมาก็จะมอบให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตรวจสอบ เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบเอง ซึ่งหลังจากนี้คงมีการส่งเรื่องในกรณีเดียวกันเข้ามาเพิ่มเติมอีกหลายเรื่อง และหากคดีใดที่มีความเชื่อมโยงกับคดีอื่นๆ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถตรวจสอบหาข้อเท็จจริงได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่การกลั่นแกล้ง เพราะเรื่องเหล่านี้มีทั้งกฎหมายปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) และกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการตรวจสอบ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานเหล่านี้ได้ทำงาน

ทั้งนี้เมื่อปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินการไปตามขั้นตอนแล้ว รัฐบาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องติดตามความคืบหน้าต่างๆ ขออย่าให้ตีความว่า เมื่อการตัดสินออกมาแล้วจะมีการฮั้วเกิดขึ้น เพราะทุกอย่างอยู่ที่หลักฐานและหลักการในการพิจารณา ซึ่งบางเรื่องเมื่อผิดก็ต้องผิด แต่บางเรื่องดูเหมือนผิดแต่ไม่ผิด

ส่วนกรณีที่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านเฟซบุ๊คกรณีเรียกภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือว่าเป็นเรื่องของนายพานทองแท้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องพูดกับตนเอง แต่ควรไปเตรียมตัวเพื่อชี้แจงต่อศาล

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องที่ละเลยการเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) ในขณะนั้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา เพราะเพิ่งสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องดูความเป็นมาทั้งหมด และจากข้อมูลเบื้องต้นเป็นกรณีที่มองกฎหมายคนละฉบับและดำเนินการคนละวิธีการกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่แล้วแต่มุมมอง และอาจถูกตีความว่าเป็นประโยชน์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น แต่ส่วนตัวได้สั่งการว่า เรื่องใดที่ทำให้เกิดความชัดเจนก็ขอให้ดำเนินการมา และตนเองจะอำนวยความสะดวกให้ โดยไม่ได้รังแกใคร เพราะหากไม่ได้ทำผิดก็ไม่ผิด แล้วขออย่ามาตอบโต้กันผ่านสื่อฯ เพราะตนเองไม่อยากตอบโต้ด้วย

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงแนวทางการสร้างความปรองดองของรัฐบาลว่า ตนเองยังมั่นใจในกระบวนการ แต่เพียงพูดคุยให้ฟังว่า ยังมีคนบางกลุ่มที่ยังไม่เข้าใจการสร้างความปรองดอง และตนเองเป็นคนสั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมา จึงต้องคาดหวังว่าจะสำเร็จ เพราะการปรองดองคือทำอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกันในสังคมและพัฒนาประเทศได้ แต่ไม่ใช่การปรองดองเรื่องในอดีต ทั้งนี้ต้องถามว่าใครจะทำสำเร็จ ถ้าหากทุกคนไม่อยากปรองดองเพราะไม่สามารถบังคับได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ