พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ระบุว่าการขยายเวลาการออกหมายเรียกไม่สามารถทำได้จะส่งผลต่อการเรียกเก็บภาษีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ว่า จะดำเนินการได้หรือไม่ได้นั้นคงต้องไปพิจารณากันในกระบวนการยุติธรรม ขอให้สังคมเข้าใจรัฐบาลด้วยว่าถ้าบางเรื่องมีความชัดเจนว่าไม่สามารถทำได้ก็คือทำไม่ได้ แต่หากบางเรื่องที่ยังมีความคลุมเครืออยู่ รัฐบาลก็จำเป็นต้องดำเนินการไปก่อน แล้วค่อยไปต่อสู้คดีในภายหลัง เพราะไม่เช่นนั้นถ้าสามารถดำเนินการได้แล้วแต่รัฐบาลไม่ทำก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157
"จะทำได้หรือไม่ได้ให้ไปว่ากันในกระบวนการยุติธรรม ผมให้ความยุติธรรมตรงนี้ ต้องนึกถึงรัฐบาลด้วยว่า ถ้ามันชัดเจนว่าทำไม่ได้ ก็คือทำไม่ได้ แต่ถ้ายังไม่ชัดเจน ยังคลุมเครือ รัฐบาลก็ต้องทำไปก่อน แล้วค่อยไปต่อสู้คดีในภายหลัง เพราะไม่เช่นนั้นถ้าทำได้แล้วไม่ทำ รัฐบาลจะโดน ม.157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องคำนึงถึง การไม่ปฏิบัติอะไรก็ตามมีความเสี่ยงต่อกฎหมายทุกประการ ดังนั้นรัฐบาลนี้จึงระวังอย่างเต็มที่" นายกรัฐมนตรี ระบุ
ส่วนกรณีการตรวจสอบนักการเมืองในอดีตที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ก็มีการดำเนินการไปตามปกติ ซึ่งรัฐบาลนี้เองก็ต้องถูกตรวจสอบเช่นกันเพราะถือเป็นระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องถูกตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินในช่วงก่อนเข้ารับตำแหน่ง และหลังจากนั้นเมื่อพ้นตำแหน่งไป 1 ปี และ 2 ปี ก็จะต้องถูกตรวจสอบอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี หาก ป.ป.ช.มีข้อสงสัยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรายใดที่อาจจะมีความผิดปกติของบัญชีทรัพย์สินก็ยังสามารถเรียกมาตรวจสอบเป็นการเฉพาะบุคคลได้ โดยกรณีนี้ให้อำนาจไว้ภายใน 5 ปี หลังจากที่บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง
"ที่มีข่าวตอนนี้ ไม่ใช่ทุกคนจะเดือดร้อน แต่จะตรวจสอบเฉพาะผู้ที่มีรายได้ไม่ปกติ ป.ป.ช.มีอำนาจทำได้ภายใน 5 ปี ไม่ใช่การรังแกใคร มีสิทธิตรวจสอบใครก็ได้เมื่อพ้นหน้าที่ไปแล้ว ปีแรก และอีก 2 ปี แต่หลังจากนั้นภายในอีก 5 ปี อาจโดนเรียกอีกก็ได้ เพื่อตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว