นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณากระบวนการถอดถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ กรณีการออกหนังสือเดินทางให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมิชอบ โดยเป็นขั้นตอนกระบวนการซักถามของกรรมาธิการ (กมธ.) ซักถามต่อคู่กรณี คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายสุรพงษ์ ซึ่งมีข้อซักถามทั้งหมด 24 คำถาม เป็นการถาม ป.ป.ช. 18 คำถาม และนายสุรพงษ์ 6 คำถาม
ด้าน น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ตอบข้อซักถามของ กมธ. เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการป.ป.ช. โดยยืนยันว่านายภักดี มีคุณสมบัติเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ถูกต้อง การที่นายสุรพงษ์อ้างคำพูดของนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่านายภักดีไม่ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทเอกชนก่อนมารับตำแหน่งป.ป.ช.ภายในเวลาที่กำหนดนั้น คนที่จะชี้ขาดเรื่องนี้มีเพียงศาลรัฐธรรมนูญและวุฒิสภาเท่านั้นไม่ใช่นายพิศิษฐ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ วุฒิสภาเคยลงมติไม่ถอดถอนนายภักดีมาแล้ว
นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยืนยันว่า การที่นายสุรพงษ์ใช้ดุลยพินิจออกหนังสือเดินทางให้นายทักษิณนั้น ทำผิดระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทางอย่างชัดเจน เพราะมีเงื่อนไขว่าไม่สามารถออกหนังสือเดินทางแก่ผู้มีคดีก่อการร้ายได้ และนายทักษิณ อยู่ในบัญชีรายชื่อห้ามออกหนังสือเดินทาง แต่กลับมีการออกหนังสือเดินทางให้ใช้เวลาเพียงแค่ 1 วัน โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และศาลว่าเป็นผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อห้ามออกหนังสือเดินทางหรือไม่
การอ้างว่าเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงต่างประเทศในการพิจารณาออกหนังสือเดินทาง ไม่ใช่อำนาจ รมว.ต่างประเทศนั้น ป.ป.ช. เห็นว่านายสุรพงษ์ สั่งการในฐานะ รมว.ต่างประเทศให้ออกหนังสือเดินทางแก่นายทักษิณ เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะนายสุรพงษ์ไม่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปพิจารณา แต่สั่งการให้ยกเลิกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของนายทักษิณในสมัยนายกษิต ภิรมย์ เป็น รมว.ต่างประเทศ พร้อมกับสั่งให้ออกหนังสือเดินทางแก่นายทักษิณ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามการสั่งการของนายสุรพงษ์
ต่อมา กมธ.ซักถามได้ตั้งคำถามนายสุรพงษ์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งนายสุรพงษ์ ได้ชี้แจงข้อซักถามว่า การสั่งออกหนังสือเดินทางให้นายทักษิณ เป็นการวินิจฉัยทางการเมือง ซึ่งสามารถเห็นแตกต่างกันได้ ไม่ใช่การวินิจฉัยทางข้อกฎหมาย เพราะไม่เห็นว่านายทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อประเทศไทย
ส่วนระยะเวลาออกหนังสือเดินทางให้นายทักษิณ ภายในวันเดียวนั้น ปกติขั้นตอนการขอหนังสือเดินทางผ่านกรมการกงสุลต่างประเทศ ใช้วิธีส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์มายังกรมการกงสุลในประเทศไทย หากคำถูกต้องตามหลักเกณฑ์ก็ดำเนินการได้ทันที ดังนั้นกรณีของนายทักษิณ จึงสามารถดำเนินการได้ภายใน 1 วัน เป็นขั้นตอนปกติ ส่วนที่ระบุว่านายทักษิณ มีรายชื่ออยู่ในแบล็คลิสต์นั้น ก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศได้สอบถามข้อมูลไปยัง สตช.และศาลแล้ว แต่ไม่เคยมีหนังสือตอบกลับมาว่าไม่ควรออกหนังสือเดินทางให้นายทักษิณ
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะมอบหนังสือเดินทางแก่นายทักษิณ เป็นของขวัญปีใหม่ว่า เป็นแค่มุกในการให้สัมภาษณ์ เพราะเป็นช่วงใกล้ปีใหม่จึงพูดเช่นนั้น แต่การดำเนินการของตนไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือหลักเกณฑ์ หรือสั่งให้ทำสิ่งผิดกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ ป.ป.ช.และนายสุรพงษ์ ตอบคำถามจาก กมธ.ซักถามครบถ้วนทั้งหมด โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ในฐานะประธานที่ประชุมขณะนั้นแจ้งต่อที่ประชุมว่าให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายมาแถลงปิดคดีในวันที่ 29 มี.ค. และนัดพิจารณาลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายสุรพงษ์ ในวันที่ 30 มี.ค.นี้