นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 "ฟื้นเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐ ด้วยปฏิวัติข้อมูล" ว่า ประเทศไทยยังมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำเพียง 70% ของประเทศระดับแนวหน้า ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่มีการใช้ข้อมูลอย่างที่ควรจะเป็น เช่น SMEs จำนวนมากยังไม่ทำบัญชีอย่างเป็นระบบ จึงเกิดความสูญเปล่า แม้รัฐบาลจะส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นสิ่งที่ดี แต่การยกระดับเศรษฐกิจที่สามารถทำได้ง่ายและได้ผลเร็วกว่าคือ การใช้ข้อมูลสร้างมูลค่าเพิ่มของทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ซึ่งหากสามารถรณรงค์ให้ภาคการผลิตใช้ข้อมูลจนทำให้ผลิตภาพของภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ เพิ่มขึ้นเพียง 1 ใน 5 ของตัวอย่างในกรณีศึกษา จะทำให้ GDP ขยายตัวขึ้น 0.82% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 8 หมื่นล้านบาท
นายวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะ กล่าวถึงด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นว่า ภาครัฐควรเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาตามความจริงครบรอบด้าน และมีนโยบายป้องกันแก้ไขได้ถูกต้อง เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลด้านสาธารณสุขโดยทีดีอาร์ไอ ทำให้เห็นว่า อัตราการตายของมารดาที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และคลอดบุตรของไทยสูงกว่าที่เคยเข้าใจกัน และมีความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ต่างๆ มาก ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข อีกทั้งปัญหาการสูญเสียชีวิตบนท้องถนนสามารถลดลงได้หากติดตามรถสาธารณะด้วย GPS ที่จะช่วยให้ทราบว่าปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้น เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับหรือจากปัญหาของถนนเอง ซึ่งจะทำให้ภาครัฐกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมได้
นอกจากนี้ คุณภาพชีวิตของประชาชนจะดีหรือไม่ยังขึ้นกับการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการของนายจ้าง ดังนั้นควรนำข้อมูลประกาศหางานออนไลน์มาวิเคราะห์ เพื่อช่วยให้รัฐและสถาบันการศึกษาทราบทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการได้อย่างละเอียด รวดเร็วและแม่นยำกว่าการสำรวจ แต่การจะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล จะต้องมีการเปิดเผยผลการวัดคุณภาพของสถานศึกษาให้ประชาชนทราบ
นายชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายชยธร เติมอริยบุตร นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรมด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ว่า การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่สามารถช่วยภาครัฐกำหนดนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำได้ เช่น ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและใช้โทรศัพท์มือถือมาช่วยระบุพื้นที่ยากจนที่ควรให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะแม่นยำกว่า วิธีการแจ้งจดทะเบียนคนจนเพื่อขอรับสวัสดิการต่างๆ ที่ประสบปัญหาข้อมูลไม่ตรงความจริง
นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเพื่อขจัดความไม่เป็นธรรม ว่า หลังจากนำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของภาครัฐมาวิเคราะห์ พบว่า การจัดจ้างโครงการก่อสร้างในปัจจุบันน่าจะยังมีการแข่งขันไม่มากเท่าที่ควร โดยบางหน่วยงานมีผู้รับเหมาก่อสร้าง 5 รายใหญ่ได้งานเกินกว่า 60% หรือแม้กระทั่ง 80% ของมูลค่าทั้งหมดในหลายจังหวัด และแม้ว่าระบบอี-บิดดิ้งจะเพิ่มการแข่งขันได้มากกว่าระบบอี-ออกชั่น และทำให้รัฐได้รับส่วนลดมากขึ้นกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี แต่ระยะเวลาในการวิจารณ์ TOR เพื่อป้องกันการล็อคสเปค และระยะเวลาเตรียมตัวยื่นซองที่กำหนดไว้ในกฎหมายน่าจะสั้นเกินไปมาก ทำให้มีการแข่งขันจำกัด
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ และ นายฉัตร คำแสง นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการปฏิวัติข้อมูลสูงสุด ภาครัฐจำเป็นต้องปฏิรูปบทบาทด้านการบริหารจัดการข้อมูล ตั้งแต่การเปิด การจัดเก็บ และการเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นระบบ โดยภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อย 15 ชุดให้ครบตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลไปพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ และประชาชนสามารถตรวจสอบบริการของรัฐได้ดีขึ้น ควบคู่กับการประกาศนโยบายข้อมูลแบบเปิด โดยให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) สนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ,
การปฏิรูประบบการจัดเก็บข้อมูล สำนักงานสถิติแห่งชาติควรกำหนดมาตรฐานการเก็บข้อมูลของภาครัฐ โดยให้ผู้ใช้ข้อมูล โดยเฉพาะภาควิชาการมีส่วนร่วมในการกำหนดชุดข้อมูลที่ควรจัดเก็บ และให้มีตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ ร่วมกำหนดนโยบายด้านการจัดเก็บข้อมูลของประเทศ อีกทั้งภาครัฐต้องจัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้กำหนดนโยบายของประเทศที่อยู่บนฐานข้อมูลแทนการคาดเดา โดยอาจให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลัก
นอกจากนี้ รัฐต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งของรัฐและเอกชนที่เป็นประโยชน์ได้ โดยแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ให้การเปิดเผยข้อมูลเป็นแนวปฏิบัติหลักและการปกปิดเป็นข้อยกเว้นที่มีกรอบชัดเจน เพื่อมิให้หน่วยราชการใช้เป็นข้ออ้าง ตลอดจนเร่งออกกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อกำกับการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลในเชิงพาณิชย์ให้ได้ตามมาตรฐานสากล