กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง"การตรวจสอบภาษีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง...ใครผิด ใครถูก" พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า การเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของ 60 นักการเมือง จะไม่กระทบกับโรดแมพความปรองดองสมานฉันท์ เพราะการเสียภาษีเป็นหน้าที่ต้องพึงปฏิบัติอยู่แล้ว และเห็นว่าควรมีการใช้มาตรการพิเศษเข้ามาในกระบวนการตรวจสอบภาษีย้อนหลังของนักการเมืองด้วย
กรุงเทพโพลล์ สำรวจข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,216 คน ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม 2560
ผลสำรวจกรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สั่งกรมสรรพากรตรวจสอบภาษี 60 นักการเมืองยุครัฐบาล นายกฯอภิสิทธิ์ และ นายกฯยิ่งลักษณ์ พบว่า ประชาชนร้อยละ 20.5 มีความเห็นว่า เป็นเกมทางการเมืองเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม รองลงมาร้อยละ 17.8 มีความเห็นว่าเป็นกระบวนการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองเมื่อหมดวาระ และร้อยละ 14.2 มีความเห็นว่า นักการเมืองตั้งใจโกง/ตั้งใจไม่ยื่นภาษี เป็นต้น
เมื่อถามว่าการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของ 60 นักการเมือง จะกระทบกับโรดแมพความปรองดอง สมานฉันท์หรือไม่ ประชาชน ร้อยละ 61.4 ระบุว่าไม่กระทบความปรองดอง โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 35.6 เห็นว่าการเสียภาษี เป็นหน้าที่ต้องพึงปฏิบัติอยู่แล้ว และ ร้อยละ 25.8 เห็นว่าการปรองดองไม่ควรเชื่อมโยงกับการละเว้นความผิด ในขณะที่ร้อยละ 38.6 ระบุการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของ 60 นักการเมืองจะกระทบความปรองดอง โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 22.0 เห็นว่า อาจเกิดกระแสการเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน และร้อยละ 16.6 เห็นว่าอาจสร้างความไม่พอใจต่อนักการเมือง
ทั้งนี้ สาเหตุที่กรมสรรพากรไม่มีการตรวจสอบภาษีของนักการเมืองตามที่ สตง. แจ้ง ตั้งแต่ต้นปี 2558 นั้น ประชาชนร้อยละ 40.1 ระบุว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีการเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมือง รองลงมาร้อยละ 27.9 ระบุว่า สรรพากรมีกระบวนการดำเนินงานและตรวจสอบล่าช้า และร้อยละ 16.6 ระบุว่า เกรงกลัวอิทธิพลของนักการเมือง
สำหรับความเห็นว่าควรมีการใช้มาตรการพิเศษเข้ามาในกระบวนการตรวจสอบภาษีย้อนหลังของนักการเมืองหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 81.5 ระบุว่าควรมี ขณะที่ร้อยละ 11.3 ไม่ควรมี ที่เหลือร้อยละ 7.2 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
ส่วนความเห็นต่อการตรวจสอบภาษีของนักการเมืองในบ้านเมืองเรา ประชาชน ร้อยละ 50.0 เห็นว่า สรรพากรมีการเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เอื้อประโยชน์ต่อการเลี่ยงภาษี รองลงมาร้อยละ 30.2 เห็นว่า มีกระบวนการตรวจสอบที่ล่าช้า ขณะที่ร้อยละ 14.1 เห็นว่ามีกระบวนการตรวจสอบที่ดี บริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่ละเลยผู้กระทำผิด
ทั้งนี้ หน่วยงานที่ควรทำหน้าที่ชี้ชัดว่านักการเมืองคนใดเข้าข่ายควรถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลังหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 39.1 ระบุว่าควรเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) รองลงมาร้อยละ 31.9 ระบุว่า ควรเป็นหน้าที่ของ กรมสรรพากร และร้อยละ 29.0 ระบุว่า ควรเป็นหน้าที่ของสตง.