ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 197 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เห็นชอบวาระที่ 3 ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เห็นควรให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กสทช.พ.ศ. 2553 ในเรื่องเกี่ยวกับองค์ประกอบและคุณสมบัติของกรรมการ กสทช. โดยยังคงจำนวนกรรมการ กสทช.ไว้ที่ 7 คนเท่าเดิม แต่เพิ่มคุณสมบัติให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน พร้อมแก้ไขอายุของกรรมการ จากเดิมต้องไม่ต่ำกว่า 45 ปี และไม่เกิน 65 ปี เป็นไม่ต่ำกว่า 45 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี
นอกจากนี้ ยังแก้ไขลักษณะต้องห้าม โดยห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ตำรงแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังโดยหมายศาล ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเคยถูกวุฒิสภามีมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง เป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้จัดการผู้บริหารที่ปรึกษาพนักงาน ผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านการกระจายเสียง โทรทัศน์ หรือกิจการด้านโทรคมนาคมในระยะเวลา 1 ปี ก่อนคัดเลือก
ในส่วนของกรรมการสรรหา กสทช.ที่เดิมมาจากประธานองค์กรอิสระต่างๆ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น เปลี่ยนเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมของกรรมการองค์กรอิสระนั้นๆ พร้อมทั้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการในการสรรหาและคัดเลือกกรรมการ จากร่างเดิมที่ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลและสังคม
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังได้เพิ่มเติม ห้ามไม่ให้ผู้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ กสทช.เป็นผู้ถือหุ้นส่วนหรือดำรงตำแหน่งใดในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจด้านวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
ด้านนายปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่) พ.ศ. ... (พ.ร.บ.กสทช.) กล่าวภายหลังสนช. ผ่านร่างพ.ร.บ.กสทช.ว่า ร่างแก้ไขที่ผ่านสนช.ล่าสุด เป็นการแก้ไขในประเด็นเร่งด่วนสำคัญ เช่น ที่มา โครงสร้าง และการสรรหากรรมการกสทช. ,การเรียกคืนคลื่นความถี่ และประเด็นที่ต้องปรับเปลี่ยนตามยุทธศาสตร์พัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยยังมีประเด็นและกฎหมายที่ต้องแก้ไขหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ภายใน 180 วันที่ต้องมีการทบทวนใหม่ ในประเด็นที่เป็นปัญหาโดยเฉพาะเรื่องเชิงโครงสร้างและการประกอบกิจการ อาทิ กฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ไม่สามารถแบ่งแยกการกำกับได้อีกเนื่องจากมีการรวมบอร์ดมาเป็นบอร์ดเดียว รวมกฎหมายที่ใช้มานานไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยี เช่น พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม
ทั้งนี้การปรับกฎหมายใหม่หลังรัฐธรรมนูญจะไม่มีผลกับการสรรหาคณะกรรมการกสทช.ชุดใหม่ที่จะมาแทนชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระในเดือนตุลาคม 2560 กระบวนการสรรหาสามารถดำเนินการได้เลยไม่เกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายกสทช.ที่ต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ