พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ครั้งที่ 1/2560 เพื่อติดตามความก้าวหน้าแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้ ป.ย.ป. ทั้ง 4 คณะ คือ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการเพื่อความสามัคคีปรองดอง โดยที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้ ป.ย.ป ทั้ง 4 คณะ
สำหรับคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อการเร่งรัดผลักดันการปฏิรูปให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมก่อนการเลือกตั้ง และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้กระบวนการปฏิรูป การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ดำเนินงานอยู่โดยรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อส่งต่อภารกิจไปสู่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งได้อย่างราบรื่นและเกิดความต่อเนื่องของการดำเนินงาน เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุข และตอบสนองต่อการบรรลุซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ระดับสูงเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และสร้างความสุขของคนไทย สร้างสังคมให้มีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ
โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมขนาดใหญ่ เพราะประเทศจะเดินหน้าได้ด้วยงานของรัฐบาลที่ทำอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาและเดินหน้าประเทศระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระแรกเมื่อวานนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก สนช. สปท. โดยส่วนตัวเห็นว่าข้อเสนอหลายอย่างนั้นมีประโยชน์ แต่อาจจะต้องหารืออีกครั้ง เพื่อให้มีความมั่นใจว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถบังคับใช้ได้ในอนาคต ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการปิดกั้นการทำงานของฝ่ายใดแต่เพื่อวางกรอบการทำงาน ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอาจจะดูยาวนานแต่ในทางปฏิบัติอาจจะไม่นานนัก เพราะถือว่าเป็นระยะแรกในการวางรากฐานและปฏิรูปประเทศเหมือนกับประเทศจีน ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 10 ปีในการยกระดับรายได้ของประเทศ จนสามารถยกระดับจนรายได้เป็นอันดับสองของโลก ในส่วนของประเทศไทยนั้นคงจะต้องใช้เวลานานกว่านั้น แต่เชื่อว่าใน 5 ปีแรกนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการวางรากฐานของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ ภาคประชาชนในรูปแบบของประชารัฐ ขณะเดียวกัน หากใครที่มีความคิดเห็นหรือข้อเสนอทางรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังแนวความคิดที่เป็นประโยชน์ของทุกคน
พร้อมกล่าวเน้นย้ำให้คณะกรรมการภายใต้ ป.ย.ป.ทั้ง 4 คณะให้ทำงานประสานสอดคล้องกันแบบบูรณาการอย่างเต็มที่ให้เกิดเป็นรูปธรรม สร้างความชัดเจนให้กับประชาชน และจัดคณะกรรมการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจต่อประชาชน พร้อมทั้งขอให้กำหนดความสำคัญของแผนการดำเนินงาน กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานให้ชัดเจน นำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในพื้นที่และในสังคมให้รับรู้สร้างแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมา เกิดวิสัยทัศน์ในการทำงานอย่างถูกต้อง พร้อมขอความร่วมมือภาคเอกชนช่วยกันสร้างความเข้าใจต่อนักลงทุนให้เกิดการลงทุนในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มในทางที่ดีทั้งเรื่องความเชื่อมั่น และมูลค่าการส่งออก
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฎิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติรับทราบผลการดำเนินงานในภาพรวมของ ป.ย.ป. และผลการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้ ป.ย.ป. 4 คณะ
โดยคณะกรรมการบริการราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ได้รายงานให้ทราบถึงการดำเนินการในเรื่องสำคัญ อาทิ เรื่องสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จะเปิดเดินรถเชื่อมสายสีน้ำเงิน-สีม่วง ในเดือนสิงหาคมนี้, โครงการรถไฟไทย-จีน จะเริ่มก่อสร้างช่วงแรกในเดือนสิงหาคม 2560, กฎหมายเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC), เรื่องปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินการลงทุนในธุรกิจ
คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่าได้เตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านไว้อย่างไรบ้าง และขณะนี้ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ววานนี้ ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่สำคัญฉบับหนึ่งของรัฐบาล และเป็นการวางศิลาฤกษ์ของยุทธศาสตร์ชาติ โดยกฎหมายดังกล่าวจะต้องประกาศใช้ในเดือนสิงหาคมนี้ และตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจำนวน 22 คน รวมถึงต้องมีการรับฟังความเห็นจากประชาชนด้วย ซึ่งแผนการทำงาน ยุทธศาสตร์ชาติจะมีอายุ 20 ปี
ส่วนคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ได้รายงานข้อเสนอของสภาปฏิรูปประเทศ 27 วาระ ที่จะต้องนำมาขับเคลื่อนรวมถึงจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำภายในหนึ่งปี นอกจากนี้ ประธานสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้นำข้อเสนอใหม่ของ สปท. จำนวน 4 เรื่องมาเสนอในที่ประชุม คือ เรื่องการจัดทำตลาดนัดชุมชน หรือตลาดนัดคนจนที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นในทุกจังหวัด, เรื่องประกันภัยการเกษตรที่ขณะนี้พบปัญหาว่าบริษัทประกันไม่ตอบรับการทำประกัน ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังไปพิจารณาว่าจะสามารถแก้ไขอย่างไร, ข้อเสนอให้จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากในแต่ละปีมีคดีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นกว่า 10,000 เรื่อง จึงเห็นว่าจะต้องมีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ทั้งนี้จะต้องมีการหารือกับสำนักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงยุติธรรมอีกครั้งว่ามีความพร้อมจะจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมขึ้นหรือไม่ และข้อเสนอให้มีการปลดล็อคและผ่อนคลายมาตรการการลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งจะเป็นการลดขั้นตอนและระยะเวลากระบวนการพิจารณาการลงทุนให้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีความเข้มงวดเรื่องของการทุจริตอยู่แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอใหม่จาก สปท.มาไว้พิจารณาทั้งหมดว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่
ด้านคณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้รายงานถึงการตั้งอนุกรรมการ 4 ชุด และรายงานข้อเสนอแนะที่รวบรวมจากนักการเมืองกลุ่มการเมืองและกลุ่มเอกชนต่างๆ ให้ที่ประชุมได้รับทราบ ทั้งข้อเสนอเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ การป้องกันการทุจริต การสร้างความเป็นธรรม รวมถึงเรื่องการจัดการเลือกตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่าหลายเรื่องตรงกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่แล้ว ก็จะนำมารวมกัน ส่วนอะไรที่เป็นข้อเสนอใหม่ ก็จะนำไปพิจารณาว่าสามารถทำได้หรือไม่
ส่วนข้อเสนอเรื่องการทำสัญญาประชาคม นายวิษณุ ระบุว่า ได้มีการรายงานให้ที่ประชุมได้ทราบ โดยเป็นหน้าที่ของอนุกรรมการชุดทำข้อตกลงในคณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดองที่จะต้องไปดำเนินการในลักษณะที่ไม่ผูกมัด คล้ายกับเป็นพันธะกรณีว่าต้องเดินหน้าเรื่องใด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการแจ้งถึงแนวทางการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ภายหลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ ว่า ป.ย.ป. จะยังทำหน้าที่ต่อ จนกว่ารัฐบาลจะพ้นไป โดยป.ย.ป.จะทำงานควบคู่กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่จะมีการตั้งขึ้นในอนาคต โดยยืนยันว่าการทำงานจะไม่ซ้ำซ้อนกัน
นายวิษณุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้พูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น แต่ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่าในเดือนต.ค.นี้ จะมีงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากนั้นในช่วงปลายปีจะมีพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งกระบวนการต่างๆ จะเริ่มนับหนึ่งหลังจากงานพระราชพิธีสำคัญและกฎหมายลูก 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง, ร่าง พ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.เสร็จสิ้น
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้มีการปรับปรุงโครงสร้างและการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เนื่องจากในอนาคตสภาพัฒน์ฯ ต้องทำหน้าที่เลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทและหน้าที่ทั้งในเรื่องของบุคลากรและปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้มีการทำงานที่สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องรับปิดชอบเพิ่มขึ้น โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้นายอำพน กิตติอำพน ผู้อำนวยการสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) และตนไปช่วยพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบประเด็นที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการขับเคลื่อนในอนาคตใน 3 ประเด็น ได้แก่ เสถียรภาพการเมือง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และประสิทธิภาพของภาครัฐ ดังนั้นการจะบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติโดยการปฎิรูปจะต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เชิงเครือข่ายทางปัญญา สังคม และการคลัง
พร้อมกันนี้ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังได้รายงานการเตรียมการและการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีสาระสำคัญ คือ 1.กฎหมายที่ต้องดำเนินการตราตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบด้วย เรื่องที่มีกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ แบ่งเป็น
- กฎหมายที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับผิดชอบ 10 ฉบับ (ต้องมีกฎหมายนี้ภายใน 240 วัน นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ) ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาแล้ว 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
- กฎหมายที่คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบ 11 ฉบับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาแล้ว 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ส่วนที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เช่น ร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ
- เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระรับผิดชอบ 1 เรื่อง คือ มาตรฐานทางจริยธรรม
2. การดำเนินการที่ต้องกระทำเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้รวม 32 กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การติดตามและการประเมินผลการดำเนินงาน (ป.ย.ป. และ PMDU) การกำหนดแนวทางการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตามมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญ, การสร้างความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ปวงชนชาวไทย