ประธาน กรธ. ยันการเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อต้องการให้เกิดการพัฒนาประเทศ

ข่าวการเมือง Monday April 24, 2017 16:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า การเก็บเงินค่าสมาชิกจากพรรคการเมืองนั้น เป็นการทำให้สมาชิกพรรคได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ซึ่งส่วนตัวแล้วเข้าใจว่าเป็นเรื่องใหม่ที่อาจทำให้เกิดข้อกังวลกัน ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญมีกลไกที่กำหนดบทบาทของแต่ละฝ่ายเอาไว้ก่อน รัฐเองก็ถูกกำหนดหน้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข พรรคการเมืองก็ต้องขยับขึ้นมาให้เหมาะสมเช่นกัน แม้แต่ประชาชนทั่วไปไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แต่รัฐบาลก็ยังต้องเอาเงินส่วนที่เก็บภาษีจากประชาชนไปให้พรรคการเมืองอยู่ดี ดังนั้น ก็ไม่เข้าใจว่าขนาดประชาชนที่ไม่มีสิทธิสมัครเป็น ส.ส.ยังต้องจ่ายเงิน แล้วทำไมสมาชิกพรรคกลับถึงไม่ต้องจ่ายเงิน

สำหรับกรณีที่มีการพูดว่าการเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคการเมืองปีละ 100 บาท จะทำให้เกิดการกลั่นแกล้ง ทำให้พรรคการเมืองหรือนายทุนพรรคจ่ายเงินค่าสมาชิกให้สมาชิกพรรคการเมือง สื่อให้เห็นว่าคนในแวดวงพรรคการเมืองนั้นไม่มีความตรงไปตรงมา เพราะถ้ามีความตรงไปตรงมาคงไม่มีใครทำอย่างนั้น กฎหมายก็คงต้องเข้มงวดขึ้น ดังนั้น กรธ.จึงให้บทบาทคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สูงขึ้นในการดูแลเรื่องนี้ อีกทั้งในรัฐธรรมนูญยังได้บอกเจตนาชัดเจนว่าคนมาทำหน้าที่ กกต.ต้องกล้าหาญ ไม่เกรงใจใครในการทำหน้าที่

ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ระบุว่าในปีแรกจะลดการเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคการเมืองให้เหลือ 50 บาท เพราะเข้าใจว่าพรรคการเมืองบางพรรคมีสมาชิกเป็นแสน จะไปเก็บค่าสมาชิกก็คงยาก ดังนั้นก็เลยลดเหลือ 50 บาท ถ้าหากภายใน 2 ปี ไม่จ่ายค่าสมาชิกพรรคก็ถอนสภาพสมาชิกพรรคการเมืองได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าแบบนี้ก็ง่ายดี ถ้าหากไม่อยากจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแล้ว ก็หยุดจ่ายเงินได้ ทั้งนี้ จำนวนเงินที่สมาชิกพรรคการเมืองจะเป็นตัวกำหนดว่าจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองเท่าไร

"ถ้าหากมองว่าการเก็บเงินสมาชิกพรรคการเมืองอาจจะมีปัญหา ก็สามารถไปคิดอ่านกันได้ว่าจะทำอย่างไร จะเก็บเงินอย่างไร จะใช้วิธีอิเล็กทรอนิกส์ในการเก็บเงินก็ได้ หรือถ้าคิดไม่ออกจริงๆ ไปถามนักคอมพิวเตอร์ก็ยังได้ ซึ่งในอนาคตเวลาพรรคการเมืองมาชวนคนเข้ามาเป็นสมาชิก เขาก็สามารถอธิบายได้ว่าพรรคนี้เวลาจะจ่ายเงินจ่ายอย่างไร"นายมีชัย กล่าว

ส่วนที่มีการเสนอว่าการให้สมาชิกพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของพรรคอาจจะทำให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ดีกว่าการเก็บเงิน นายมีชัย ระบุว่า แล้วพรรคการเมืองจะไปเอาเงินมาจากไหน ถ้าพรรคเอาเงินจากนายทุนพรรคนั้นก็เป็นของนายทุน ถ้าพรรคนั้นรอเอาเงินจากรัฐบาล ประชาชนทั่วไปก็จะเสียเปรียบ

ส่วนความเห็นของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) เสนอว่าการบริจาคเงินพรรคการเมืองไม่ควรบริจาคเกิน 1 ล้านบาท เพื่อไม่ให้กลุ่มนายทุนครอบงำพรรคการเมืองนั้นก็แล้วแต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะไปเป็นคนคิด ที่นายสุเทพเสนอมานั้นกำหนด 2 ข้าง ข้างหนึ่งไม่อยากจะเก็บจากนายทุนเยอะ แต่อยากให้เก็บเงินจากประชาชนเยอะ โดยเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคขั้นต่ำปีละ 365 บาท หรือวันละ 1 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ