พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง กมธ.ได้ปรับปรุงเนื้อหาและจัดทำร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ...... เรียบร้อยแล้วและเตรียมเสนอให้ กมธ.วิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ และบรรจุไว้ในระเบียบวาระประชุม สปท.ในวันที่ 9 พ.ค.
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะมีทั้งสิ้น 100 มาตรา ขณะที่บทบัญญัติส่วนใหญ่ยังคงหลักการสำคัญไว้ คือ ให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยมีกรรมการ 15 คน ประกอบด้วย ผู้แทนสภาวิชาชีพจำนวน 7 คน, ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการอื่นอีก 4 คน ซึ่งกำหนดคุณสมบัติคือต้องเป็นตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ, นักวิชาการและภาคประชาชน
ในช่วงเริ่มแรกของการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาตินั้น บทเฉพาะกาลกำหนดให้มีคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง จำนวน 13 คนประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกฯ, ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, เลขาธิการ กสทช., ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์, นายกสมาคมสมาพันธ์วิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทศน์, นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ประธานสภาวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งชาติ และ นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย โดยกำหนดให้ปฏิบัติหน้าที่เตรียมก่อตั้งให้เสร็จภายใน 2 ปี
"ตัวแทนภาครัฐที่ร่างกฎหมายกำหนดให้เป็นกรรมการสภาวิชาชีพนั้น ทราบว่าสื่อมวลชนรู้สึกอึดอัด ต่อกรณีที่เป็นข้าราชการในส่วนของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นในการประชุมสปท. วันที่ 9 พ.ค.นั้นจะเสนอให้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลเพิ่มเติม คือ ให้ ปลัดสำนักนายกฯ และ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการ ได้ในช่วง 5 ปีหลังการก่อตั้ง และเมื่อครบเวลาให้มีการคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ใหม่แทน"
สำหรับการกำกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นยังกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นต้องมีใบอนุญาต และหากผู้ใดที่กระทำผิดตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนดไว้ จะมีโทษตามลำดับขั้น และสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งหมายถึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนได้ โดยในการตรวจสอบจะกำหนดเป็นลำดับ คือ ให้องค์กรตรวจสอบชั้นต้น หากยังไม่เป็นที่ยุติจะส่งให้กับองค์การที่มาจากการวมตัวขององค์กร และถึงขั้นตอนตรวจสอบสุดท้ายคือสภาวิชาชีพ
พล.อ.อ.คณิต กล่าวว่า สำหรับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนวันที่จะมีกฎหมายฉบับดังกล่าวบังคับใช้ บทเฉพาะกาลกำหนดให้สื่อมวลชนนั้นได้รับใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ จากนั้นภายใน 2 ปี ต้องเข้าสู่ระบบของสภาวิชาชีพฯ ส่วนบุคคลที่จะทำอาชีพสื่อมวลชนหลังมีกฎหมายใหม่ ต้องเข้าสู่อาชีพตามระบบใหม่ คือ ผ่านการอบรม ปฐมนิเทศ ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ไม่เข้าระบบใบอนุญาตจะมีบทลงโทษ