พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" โดยระบุว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ตรงกับวันกรรมกรสากลโลก หรือวัน May Day ทั้งนี้ มองว่าประชาชนและผู้ใช้แรงงานถือเป็นผู้ร่วมสร้างชาติ เพราะแรงงานถือเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการผลิต ห่วงโซ่คุณค่าในระบบเศรษฐกิจ โดยพลังของผู้ใช้แรงงานจะแฝงอยู่ในผลผลิตทุกชิ้น
ดังนั้น ความมั่นคงก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศจะมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับพี่น้องแรงงานทุกประเภท ทั้งแรงงานในระบบที่เรียกว่ามนุษย์เงินเดือน และแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระที่มีอยู่ราว 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งแรงงานนอกระบบนี้ ส่วนมากเป็นผู้มีรายได้น้อย รายได้ไม่แน่นอนและไม่มีความมั่นคง หากไม่ได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครองจากรัฐบาล ทั้งด้านกฎหมายแรงงาน, ประกันสังคม และสวัสดิการอื่นๆ แล้ว ก็ย่อมจะส่งผลกระทบ ทั้งในมิติสังคมและความมั่นคงตามมา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดให้มีฐานข้อมูลกลาง (Data Center) ข้อมูลแรงงาน ข้อมูลประชากรของประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้รัฐบาลและทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้กำหนดเป็นนโยบายสาธารณะได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งแรงงานกลุ่มต่างๆ และแรงงานคนพิการของไทย รวมถึงแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการลงทะเบียนจัดทำฐานข้อมูลตามขั้นตอนไปแล้ว
"ฐานข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยในการจัดระบบให้เป็นระเบียบ สำหรับการบริหารจัดการ เพื่อให้ประเทศสามารถใช้ศักยภาพจากทรัพยากรมนุษย์ หรือแรงงานของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย" นายกรัฐมนตรีกล่าว
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาปัญหาแรงงานไทยนอกจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างด้านผลประโยชน์, ค่าตอบแทน และสวัสดิการแล้ว ยังคงมีปัญหาเรื่องปากท้อง การบริการสุขภาพ ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการศึกษา ซึ่งรัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านั้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนแก่พี่น้องแรงงานทุกประเภท โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มักจะเป็นประชากรระดับฐานราก และผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นจึงมีนโยบายสาธารณะต่างๆ ออกมาจำนวนมากในช่วงเวลา 2 ปีกว่านี้ เช่น
ด้านสุขภาพ ได้แก่ (1) การแพทย์ฉุกเฉิน “72 ชั่วโมงแรก" ให้พ้นวิกฤต ที่ผู้ป่วยอยู่ในช่วงอันตรายถึงชีวิต สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ซึ่งเป็นการก้าวข้ามกำแพงสิทธิประเภทต่างๆ ไม่ว่าประกันสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนอื่นๆ หรือแม้จะไม่มีสิทธิใดๆ โดยรัฐบาลได้รักษาไว้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของพี่น้องคนไทยทุกคน ทุกสาขาอาชีพ และ (2) คลินิกหมอครอบครัว เป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย เน้นมาตรการเชิงป้องกันมากกว่ารักษา ด้วยการสร้างระบบเครือข่ายแพทย์ปฐมภูมิไปทั่วประเทศ จนเข้าถึงทุกครัวเรือน จำนวน 6,500 ทีม ในปี 2570
ด้านสวัสดิการสังคม ได้แก่ (1) กองทุนการออมแห่งชาติ สำหรับประชาชนและพี่น้องแรงงานที่ไม่อยู่ในกองทุนบำเหน็จบำนาญช้าราชการ ที่เรียกว่ากบข. หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กสล. หรือกองทุนประกันสังคม (2) กองทุนยุติธรรม จะช่วยเหลือในเรื่องคดีความ, การให้ความรู้ทางกฎหมาย หรือการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และ (3) การลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการภาครัฐ ที่จะปิดลงทะเบียนในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ โดยจะมีมาตรการลดค่าครองชีพสำหรับแรงงานที่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย เช่น การให้ส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่ารถ ขสมก. สำหรับแรงงานในกรุงเทพฯ หรือค่ารถ บขส. สำหรับพี่น้องต่างจังหวัด
ด้านพัฒนาฝีมือแรงงานและความมั่นคงในอาชีพ เช่น (1) ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) (2) การสร้างระบบมาตรฐานแรงงาน ช่วยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และ (3) การส่งเสริมอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ภายใต้กลไกประชารัฐ เป็นต้น
"ที่กล่าวมา ก็เป็นการบูรณาการหน่วยงาน และการสร้างระบบตลาดแรงงานที่สอดคล้องกันของฝั่ง Demand คือ กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงเกษตรฯ, กระทรวงพาณิชย์ และฝั่ง Supply คือ กระทรวงศึกษา และกระทรวงแรงงาน ให้รองรับการก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั่นเอง" นายรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมระบุว่า ในอนาคตจะต้องยกระดับจากผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ใช้พลังสมอง หรือที่เรียกว่าจาก Manpower สู่ Brainpower โดยอยากให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเอง โดยเริ่มจากการเห็นว่าตนเองนั้น มีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศเท่าเทียมกัน ซึ่งคงต้องค่อยๆ ยกระดับตนเองเป็นแรงงานมีฝีมือ แรงงานคุณภาพ แรงงานที่มีนวัตกรรม และแรงงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ให้ได้ โดยต้องรู้จักการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเหมาะสมด้วย