นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ช.ได้รายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบว่าในรอบเดือนที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ส่งรายงานการไต่สวนไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หรือผู้บังคับบัญชาเพื่อลงโทษทางวินัย หรืออัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาแล้วแต่กรณีแล้ว โดยเป็นคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจในส่วนกลางจำนวน 5 คดี
เรื่องแรกเป็นการร้องเรียนกล่าวหา 1.พล.ต.ท.ประชิน วารี รองจเรตำรวจ (สบ.9) ฐานะคณะกรรมการประกวดราคา 2.พล.ต.ต.สมพงษ์ น้าเจริญ รองผู้บังคับการกองบังคับการจเรตำรวจ 4 ฐานะคณะกรรมการประกวดราคา 3.พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดจันทบุรี ฐานะคณะกรรมการประกวดราคา 4.พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ ผู้บังคับการพลาธิการและสรรพาวุธ 5.น.ส.รักชนก แจ๊ะซ้าย หรือ น.ส.สุพิชญา สองมณี กรรมการผู้จัดการบริษัท คาร์แทรคกิ้ง จำกัด 6.นายปิติ มโนมัยพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทเกอร์ มอเตอร์ จำกัด ว่าทุจริตในการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจ พร้อมอุปกรณ์ (ทดแทน) จำนวน 19,147 คัน โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า พล.ต.ท.ประชิน, พล.ต.ต.สมพงษ์ และ พล.ต.ต.อิทธิพล มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ส่วน พล.ต.ต.สัจจะ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542มาตรา 12 ขณะที่ น.ส.รักชนก หรือ น.ส.สุพิชญา มีมูลความผิดทางอาญาฐานตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐอันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 และนายปิติ มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุน น.ส.รักชนก หรือ น.ส.สุพิชญ และบริษัท คาร์แทรคกิ้ง จำกัด กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
เรื่องที่สองร้องเรียนกล่าวหา 1.นายสุวิทย์ ศิลาทอง ผู้อำนวยการกองกฎหมายและคดี กรุงเทพมหานคร ในฐานะกรรมการพิจารณารายละเอียดการจัดซื้อรถดับเพลิงและอุปกรณ์ ในฐานะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ 2.น.ส.สุทิพย์ ทิพย์สุวรรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรุงเทพมหานคร ในฐานะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ 3.พ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนศิริ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ 4.พ.ต.ท.รักศิลป์ รัตนวราหะ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 7 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษว่าทุจริตในการจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า นายสุวิทย์, น.ส.สุทิพย์, พ.ต.อ.พิชัย และ พ.ต.ท.รักศิลป์ ในฐานะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใด ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12
เรื่องที่สามร้องเรียนกล่าวหา นายอรัญ โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า ว่าทำสัญญาจ้างบริษัท เทเลโทรล วัน จำกัด ออกแบบ ศึกษา และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่างรัฐสภาและสถาบันพระปกเกล้าโดยไม่มีอำนาจ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า นายอรัญ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123 ฐานทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ หรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ฐานปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มาตรา 265 และฐานใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิด ตามมาตรา 264 มาตรา 265 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามมาตรา 268
เรื่องที่สี่ร้องเรียนกล่าวหา 1.นาวาตรี ปรารมภ์หรือปารมต์ โมกขะเวส ผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด 2.นายกิตติชัย ริมกีรติกุล ผู้จัดการฝ่ายวางแผนและพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด ว่าแต่งตั้งบริษัทตัวแทนโดยไม่มีอำนาจ, จ่ายเงินค่านายหน้า ค่าส่วนลด ฯลฯ ให้บริษัทตัวแทนโดยไม่มีอำนาจ, ผ่อนผันการชำระหนี้โดยไม่หักกลบลบหนี้, ทุจริตในการเบิกจ่ายเงินค่าเลี้ยงรับรอง และละเว้นไม่แจ้งเรื่องการยกเลิกสัญญาเช่าเรือ TMN1 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า กรณีแต่งตั้งตัวแทนโดยไม่มีอำนาจ และกรณีผ่อนผันการชำระหนี้โดยไม่หักกลบลบหนี้นั้น นาวาตรีปรารมภ์หรือปารมต์ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่องค์การบริษัท จำกัด และเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ส่วนกรณีละเว้นไม่แจ้งเรื่องการเลิกสัญญาเช่าเรือ TMN 1 ให้ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสงขลา และกองนำร่องทราบ เจตนาให้บริษัท ออนเวิร์ดอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ใช้ชื่อบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด ในการเดินเรือ ภายหลังสัญญาเช่าเรือ TMN 1 สิ้นสุดลง เป็นเหตุให้ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสงขลา และกองนำร่อง เรียกร้องให้ บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด ชำระค่าภาระเรือ TMN 1 เป็นเงินจำนวน 3,598,006.14 บาทนั้น นายกิตติชัย มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11
และเรื่องที่ห้าร้องเรียนกล่าวหา 1.นาวาตรี ปรารมภ์หรือปารมต์ โมกขะเวส ผู้อำนวยการบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด (บทด.) 2.นายทัศพงศ์ วิชชุประภา รองผู้อำนวยการ 3.นายกิตติชัย ริมกีรติกุล รองผู้อำนวยการ 4.นายวิสุทธิ์ วนิชกีรติ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และผู้จัดการฝ่ายจัดการขนส่ง 5.นายสชา พุ่มไม้ เจ้าหน้าที่บริหารการตลาด 3 6.บริษัท เฟรท คอนโซลิเดเตอร์ แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด (FCT) 7.นายยอดยิ่ง วีระเมธี ว่าออกใบตราส่งให้แก่ลูกค้า ทั้งที่ไม่มีนิติสัมพันธ์ ออกใบตราส่งโดยเปลี่ยนชื่อเรือโดยมิชอบ และรับรองค่าระวางเรืออันเป็นเท็จ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า กรณีออกใบตราส่งโดยเปลี่ยนแปลงชื่อเรืออันเป็นเท็จนั้น นาวาตรี ปรารมภ์หรือปารมต์ และ นายทัศพงศ์ฯ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง, นายกิตติชัย มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง, นายวิสุทธิ์ และนายสชา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น และเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11, บริษัท เฟรท คอนโซลิเดเตอร์ แอนด์ เทรดดิ้ง จำกัด (FCT) และ นายยอดยิ่ง มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86