นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คาดว่าจะส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาได้ภายในสัปดาห์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจทาน
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ระบบวิธีการไต่สวน กรธ.พยายามทำให้ชัดเจนมากกว่าเดิม โดยในมาตรา 6 กรธ.ได้บัญญัติเรื่องการค้นหาความจริงอย่างละเอียดมากขึ้น พยานหลักฐานต้องเอามาใช้ได้ทุกประเภท เพื่อให้ผู้พิพากษาใช้ประกอบการพิจารณาคดีอย่างถี่ถ้วน
ส่วนขอบเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนคดีอาญานักการเมือง ตามมาตรา 10 ของกฎหมายลูกนี้ กำหนดให้เน้นการตรวจสอบนักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติ และใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ รวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการในองค์กรอิสระทุกองค์กร
นอกจากนี้ในมาตรา 26 กำหนดให้สามารถพิจารณาคดีได้ โดยจำเลยไม่ต้องเดินทางมาศาล เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาจำเลยหนีคดี ไม่มาศาล และให้ศาลพิจารณาได้ต่อไปจนได้ผลการตัดสิน ซึ่งแม้ว่าจำเลยจะไม่มาแต่สามารถตั้งทนายมาต่อสู้แทนได้ แต่หากจำเลยกลับมาสู้คดีก็สามารถรื้อฟื้นคดีเพื่อตรวจสอบความถูกต้องได้ เป็นการให้หลักประกันสิทธิแก่จำเลย
นายอุดม กล่าวว่า กรธ.ได้พิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับเสร็จสิ้นแล้ว แต่ต้องทบทวนข้อคิดเห็น เหตุผล และผลกระทบต่างๆ รวมทั้งเก็บรายละเอียดจากการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 60 กำหนดไว้ เพื่อส่งข้อมูลทั้งหมดส่งต่อให้ สนช.นำไปใช้ในการพิจารณา