"สวนดุสิตโพล"เผยปชช.ส่วนใหญ่มองบึ้มกทม.สร้างสถานการณ์เอี่ยวการเมือง,ไม่แน่ใจกระทบเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Sunday May 28, 2017 10:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จากเหตุการณ์ระเบิดในกทม. 3 จุด ทั้งหน้ากองสลากกินแบ่งรัฐบาล หน้าโรงละครแห่งชาติ และล่าสุดที่โรงพยาบาลพระมงกุฏถือว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจท้าทายต่อกฎหมายบ้านเมือง ส่งผลให้ประชาชนมีความวิตกกังวล และต้องการให้รัฐบาล เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเร่งดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เฝ้าระวังสถานที่ที่เป็นจุดเสี่ยงสำคัญเพิ่มมากขึ้น เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ทั้งนี้ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,223 คน ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2560 สรุปผลได้ ดังนี้

1. ประชาชนคิดอย่างไร? กรณี ระเบิดในกทม. 3 จุด ทั้งหน้ากองสลากกินแบ่งรัฐบาล หน้าโรงละครแห่งชาติ และโรงพยาบาลพระมงกุฏ

          อันดับ 1   เป็นการกระทำที่อุกอาจ ไร้จิตสำนึก ท้าทายกฎหมายบ้านเมือง           83.73%
          อันดับ 2   อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว          81.44%
          อันดับ 3   อยากรู้ข้อเท็จจริง และเหตุจูงใจในการก่อเหตุ                                78.74%
          อันดับ 4   รู้สึกกลัว เกรงว่าจะได้รับอันตราย ต้องระมัดระวังมากขึ้น                    72.28%
          อันดับ 5   ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ                                       55.68%
2. ประชาชนคิดว่าสาเหตุที่เกิดการวางระเบิดเป็นเพราะอะไร?
          อันดับ 1   เป็นการสร้างสถานการณ์ ต้องการให้เป็นข่าวครึกโครม                      78.00%
          อันดับ 2   มาจากความขัดแย้ง อำนาจและผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม              67.13%
          อันดับ 3   มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง                                                   66.48%
          อันดับ 4   เป็นการท้าทาย หวังให้บ้านเมืองปั่นป่วน วุ่นวาย                              55.27%
          อันดับ 5   ต้องการข่มขู่หรือส่งสัญญาณเตือนถึงอะไรบางอย่าง                         48.49%
3. ทำอย่างไร? จึงจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุระเบิดเช่นนี้อีก
          อันดับ 1   ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแล                                           74.16%
          อันดับ 2   เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจตามจุดเสี่ยงต่างๆมากขึ้น                  71.38%
          อันดับ 3   หน่วยข่าวกรองต้องตรวจสอบข่าวให้ละเอียด ทันสถานการณ์              63.53%
          อันดับ 4   ยากที่จะป้องกัน  ไม่สามารถควบคุมดูแลได้ทั่วถึง                             58.05%
          อันดับ 5   เร่งกวาดล้าง สืบหาแหล่งที่มาของอาวุธร้ายแรงที่นำมาใช้ก่อเหตุ          56.91%

4. ประชาชนคิดว่าการวางระเบิดเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยหรือไม่?

อันดับ 1 เกี่ยวข้อง 56.09% เพราะ สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่นิ่ง มีคลื่นใต้น้ำ การเมืองไทยยังมีความขัดแย้งแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีหลายประเด็นที่น่าจะเชื่อมโยงเรื่องการเมือง ฯลฯ

อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 34.35% เพราะควรรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงก่อน อาจมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่มากกว่านี้ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ระเบิด ฯลฯ

อันดับ 3 ไม่เกี่ยวข้อง 9.56% เพราะอาจมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งส่วนตัวหรือเรื่องอื่น ทำไปเพื่อต้องการท้าทายกฎหมายบ้านเมือง สถานการณ์ทางการเมืองมักถูกดึงมาเกี่ยวข้องเสมอ ฯลฯ

5. ประชาชนคิดว่าการวางระเบิดเกี่ยวข้องกับครบรอบ 3 ปี คสช.หรือไม่?

อันดับ 1 ไม่แน่ใจ 47.02% เพราะต้องรอดูผลการสืบสวนและหลักฐานประกอบคดีเพิ่มเติมของเจ้าหน้าที่ รอติดตามข่าวสารต่อไป ฯลฯ

อันดับ 2 เกี่ยวข้อง 36.65% เพราะ เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งครบรอบ 3 ปีพอดี สถานที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ของทหาร น่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน มีคนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของ คสช. ฯลฯ

อันดับ 3 ไม่เกี่ยวข้อง 16.33% เพราะอาจเป็นการกระทำของผู้ที่ไม่หวังดี หรือเกิดความคึกคะนอง อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย ฯลฯ

6. ประชาชนคิดว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อการเลือกตั้งหรือไม่?

อันดับ 1 ไม่แน่ใจ 39.53% เพราะขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ของรัฐบาล การเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศ ฯลฯ

อันดับ 2 กระทบ 31.91% คือการเลือกตั้งอาจเลื่อนออกไป ประชาชนไม่กล้าออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กลัวระเบิด หน่วยเลือกตั้งมีอยู่ทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่อาจดูแลไม่ทั่วถึง ฯลฯ

อันดับ 3 ไม่กระทบ 28.56% เพราะยังมีเวลาในการจัดเตรียมการเลือกตั้งอีกนาน ไม่ควรนำเอาเหตุระเบิดมาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเชื่อว่ารัฐบาลสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ฯลฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ