ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การปฏิรูปองค์กรตำรวจในยุค คสช." ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 – 26 พฤษภาคม 2560 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรตำรวจในยุค รัฐบาล คสช. โดยจากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการประสบความสำเร็จในการปฏิรูปองค์กรตำรวจในยุค คสช. พบว่า ประชาชน ร้อยละ 10.64 ระบุว่า ยุค คสช. ประสบความสำเร็จสูงในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ร้อยละ 31.76 ระบุว่า ยุค คสช. ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ร้อยละ 29.36 ระบุว่า ยุค คสช. ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ร้อยละ 20.16 ระบุว่า ยุค คสช. ไม่ประสบความสำเร็จเลยในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ร้อยละ 0.32 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ ประสบความสำเร็จในบางเรื่อง บางเรื่องก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ต้องดูเป็นเรื่อง ๆไป และร้อยละ 7.76 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อปี 2559 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า การปฏิรูปองค์กรตำรวจในยุค คสช. ค่อนข้างประสบความสำเร็จ – ประสบความสำเร็จสูง นั้น มีสัดส่วนลดลง ขณะที่ ผู้ที่ระบุว่า การปฏิรูปองค์กรตำรวจในยุค คสช.ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการย้ายสถานะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.92 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ กระทรวงยุติธรรมน่าจะมีความเป็นธรรม เป็นกลาง และมีความโปร่งใสในการทำงานมากที่สุด ระบบการบริหารจัดทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เป็นการสั่งงานโดยตรงจากกระทรวง สามารถตรวจสอบการทำงานได้ การทำงานร่วมกันกับระบบงานยุติธรรม เช่น การตัดสินคดีความต่าง ๆ ทำได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดทอนอำนาจและลดการทุจริตให้น้อยลง ขณะที่ ร้อยละ 27.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ขาดความเป็นอิสระในการบริหารงาน เป็นการเพิ่มความยุ่งยาก ซ้ำซ้อน และไม่สะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงยุติธรรมต่างมีหน้าที่ของตนเองอยู่แล้ว ควรแยกทำงานกันเพื่อให้เป็นระบบ ทั้งนี้ เป็นการปรับโครงสร้างเพียงอย่างเดียวซึ่งกว่าจะลงตัวต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และอาจถูกแทรกแซงทางการเมืองจากนักการเมือง ควรใช้รูปแบบการบริหารราชการเช่นเดิม ร้อยละ 10.96 ระบุว่า เฉย ๆ จะอย่างไรก็ได้ เพราะไม่ว่าจะอยู่สังกัดใด การทำงานก็ยังคงเหมือนเดิม ขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณา และร้อยละ 9.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยต้องผ่านงานสอบสวนอย่างน้อย 2 ปี และร่วมรับผิดชอบสำนวนสอบสวนไม่น้อยกว่า 70 คดี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.84 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นการคัดกรองบุคคล เพื่อให้ได้ผู้ที่มีประสบการณ์ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทุกวันนี้ การได้ตำแหน่งหรือการเลื่อนขั้นเป็นไปโดยรวดเร็วและง่ายมาก เป็นการป้องกันการใช้ระบบเส้นสายในการเข้ารับตำแหน่งด้วย ขณะที่ ร้อยละ 14.24 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการจำกัดสิทธิเกินไป เพราะในแต่ละพื้นที่มีคดีมากน้อยแตกต่างกัน ควรดูที่ผลงานและความสามารถทักษะส่วนบุคคล ซึ่งแบบเดิมจะได้เลื่อนขั้นตามขั้นตอนและเร็วกว่า ขณะที่บางส่วนระบุว่า เกณฑ์ดังกล่าวน้อยเกินไป ควรกำหนดเกณฑ์ความเชี่ยวชาญ และความรับผิดชอบมากขึ้น เช่น อย่างน้อยควรมีผลงานสอบสวน 4 ปี ขึ้นไป ร่วมกับการใช้อายุงานเป็นเกณฑ์ ร้อยละ 6.24 ระบุว่า เฉย ๆ จะอย่างไรก็ได้ เพราะ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาและตัวบุคคลมากกว่า และร้อยละ 7.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปรับปรุงเงินเดือนตำรวจให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.32 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ อาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่เสียสละ และมีความเสี่ยงในการทำงานสูง เป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะเงินเดือนชั้นประทวนยังน้อยเกินไป ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน นอกจากนี้อาจจะมีส่วนช่วยลดการรีดไถจากประชาชน หรือประพฤติมิชอบให้น้อยลง ขณะที่ ร้อยละ 25.28 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ อาชีพตำรวจมีสวัสดิการที่ดีอยู่แล้ว และยังได้รับรายได้หรือเบี้ยเลี้ยงอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน ทุกวันนี้ตำรวจบางรายก็ทำงานไม่มีคุณภาพ และถึงแม้ว่ามีการปรับขึ้นเงินเดือน การรีดไถหรือตำรวจ นอกรีตก็ยังไม่หมดไป ควรเอางบไปพัฒนาด้านอื่นดีกว่า ร้อยละ 5.92 ระบุว่า เฉย ๆ จะอย่างไรก็ได้ เพราะ ควรดูตามผลงาน ความสมเหตุสมผล และระดับชั้นของตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อยที่ควรปรับเงินเดือน แต่หากถ้าเป็นระดับชั้นผู้ใหญ่ ก็ไม่ควรปรับขึ้นเงินเดือน และร้อยละ 2.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการให้ตำรวจไปอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด (ส่วนภูมิภาค) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.76 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการทับซ้อนงาน ขาดอิสรภาพ การทำงานลำบากมากขึ้น ง่ายต่อการทุจริต อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ และบางคดีอาจเสียรูปคดีความ ควรแยกกันบริหารงาน ขณะที่ ร้อยละ 38.96 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ บริบทของพื้นที่มีความแตกต่างกัน จะได้มีความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ ใกล้ชิดกับประชาชน สามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น ลดขั้นตอนของผู้บังคับบัญชา ตรวจสอบการทำงานได้ง่าย ดีกว่าให้ตำรวจปกครองกันเอง ร้อยละ 8.96 ระบุว่า เฉย ๆ จะอย่างไรก็ได้ เพราะ ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ และเหตุผลสนับสนุน และร้อยละ 12.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการให้ตำรวจไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.08 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีความเหมาะสม ขาดความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการทำงานและความโปร่งใส ตรวจสอบการทำงานได้ยากขึ้น ไม่ต้องขึ้นตรงกับองค์กรใดแบบเดิมดีอยู่แล้ว หรือหากจำเป็น ก็ควรขึ้นตรงกับหน่วยงาน ที่เป็นกลางมากกว่า ขณะที่ ร้อยละ 37.20 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้ร่วมมือกันทำงานกับหลาย ๆ ฝ่าย ทำให้รับทราบปัญหาที่แท้จริงในชุมชนการทำงานทั่วถึงและครอบคลุมในพื้นที่ และเป็นการอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ไปในตัว ร้อยละ 6.08 ระบุว่า เฉย ๆ จะอย่างไรก็ได้ เพราะ อยู่ที่ตัวบุคคล และระบบการทำงาน และร้อยละ 10.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ