พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถานำ เรื่อง "หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกับการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม" โดยระบุว่า การประกอบธุรกิจโดยเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชนเป็นเรื่องที่ถูกต้องทางศีลธรรม และเป็นโอกาสนำประเทศสู่ "ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" เพราะธุรกิจคือพลังขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และสิทธิมนุษยชน คือ การดูแลคนทุกคนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความปลอดภัยในชีวิต มีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม มีโอกาสเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการของรัฐ และได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม
ดังนั้น ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ก็คือการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม และขออย่ากังวลกับรัฐบาลนี้ที่เข้ามาบริหารประเทศ แต่มีความมุ่งมั่น เพื่อยุติความขัดแย้ง และวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า การที่สหประชาชาติให้การรับรองหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาคมโลกมีความพยายามในการสนับสนุนให้การกำหนดความรับผิดชอบของธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่รัฐบาลนี้ยืนยันมีความมุ่งมั่นที่ผลักดันให้ประเทศไทยมีการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิมนุษยชน โดยยึดหลักการชี้แนะฯ ทั้งเสาหลัก 3 ประการ คือ เสาหลักด้านการคุ้มครอง, ด้านการเคารพ และด้านการเยียวยา
สำหรับหน้าที่ของรัฐด้านการคุ้มครองนั้น ประเทศไทยได้ดำเนินการไปแล้วในหลายส่วน เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้คนทำงานได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ไม่มีการบังคับใช้แรงงาน ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม กฎหมายที่ให้หลักประกันทางสังคม ซึ่งรัฐบาลนี้แก้ไขและมีผลสัมฤทธิ์ ถือเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ตลอด 3 ปีที่เข้ามาบริหารบ้านเมือง อีกทั้งมีการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างมีพลวัต
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การสมยอมระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่จะต้องไม่เกิดขึ้น โดยทุกคนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพราะบางเรื่องรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ทั่วถึง ทั้งนี้ จะต้องมีการกำหนดทิศทางร่วมกัน โดยมีเข็มทิศของแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีเหตุมีผล มีความพอประมาณ เช่นเดียวกับการประกอบธุรกิจที่ต้องยึดถือการพัฒนาแบบตะวันตกและตะวันออกอย่างสมดุล
นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาที่เป็นข้อกังวลจากต่างประเทศและในประเทศ เช่น การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหา โดยอยู่ระหว่างการจัดตั้งศาลคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ขึ้น เพื่อให้มีการพิจารณาคดีในด้านนี้ได้อย่างรวดเร็ว
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การปฎิรูปประเทศจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาคเอกชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และทุกหน่วยงานที่จะต้องมีการจัดทำแผนที่ระบุให้ชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะต้องดำเนินการในเรื่องใด
พร้อมกันนี้ ยังให้แนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านสิทธิมนุษยชนแก่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักว่า แผนที่จะจัดทำนั้น ควรมุ่งแก้ไขปัญหาที่ได้เกิดขึ้น และเป็นมาตรการที่ตอบสนองปัญหาได้ตรงจุด สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง ตลอดจนเป็นไปอย่างโปร่งใสและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริง
สำหรับภาคเอกชนในเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอว่าภาคธุรกิจควรหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม นอกจากการดูแลสวัสดิการของแรงงานแล้ว ภาคธุรกิจพึงให้ความสำคัญกับชุมชนในพื้นที่ ไม่สร้างกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมในชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีการลงนามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งคุ้มครองปัจเจกบุคคลและชุมชนจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากบุคคลที่สาม ภาคธุรกิจเอกชนจะเข้ามามีบทบาทและรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชน และป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการประกอบกิจการของตนเองมากยิ่งขึ้น