ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 190 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวาระที่ 1 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ติจำนวน 19 คน ให้พิจารณาเสร็จภายใน 45 วัน
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการเสนอตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพ โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีหลักการใหม่ 2 ประเด็น คือ 1.การกำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาพิพากษาคดี หมายความว่า ในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเปิดทางให้ศาลทำหน้าที่แสวงหาความจริงที่นำไปสู่ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และให้เกิดการใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อหาช่องโหว่มาต่อสู้กันมากจนเกินไป
2.การให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลย เดิมที่ผ่านมาหากเกิดกรณีจำเลยหนีหลบหนีไม่ว่าก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดีในศาลส่งผลให้กระบวนการไต่สวนทำได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นร่างกฎหมายใหม่จึงกำหนดให้ศาลไต่สวนลับหลังได้เพื่อไม่ให้การพิจารณาคดีสะดุด
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ควรกำหนดกรอบเวลาการพิจารณาคดีทุจริตให้ชัดเจน เหมือนกับที่กฎหมายกำหนดเวลาให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องพิจารณาคดีวินิจฉัยคดีทุจริตการเลือกตั้ง เพื่อให้การพิจารณาคดีไม่เกิดความล่าช้า นอกจากนี้ควรมีมาตรการติดตามเอาทรัพย์ที่กระทำความผิดมาเป็นของแผ่นดินด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง