นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เปิดเผยว่า ในวันนี้จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2561 ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ โดยมีทั้งสิ้น 65 มาตรา กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2.9 ล้านล้านบาท คาดว่าที่ประชุม สนช.จะใช้เวลาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง
"มีสมาชิก สนช.เข้าชื่อขออภิปรายไว้ 18 คน จะให้เวลาคนละประมาณ 8 นาที อภิปรายหลังจากนายกฯ ชี้แจงจบแล้ว แต่ไม่รู้ว่านายกฯ จะใช้เวลานานเท่าไหร่ ไม่น่าจะต่ำกว่า 5 ชั่วโมง"นายสุรชัย กล่าว
การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2561 เป็นการจัดงบประมาณขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณก่อน กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ 2.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 74.2% งบรายจ่ายลงทุน 6.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 22% และ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 8.7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 3%
ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 61 เติบโต 3.3-4.3% อัตราเงินเฟ้อในช่วง 1.5-2.5% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.4% ของ GDP และคาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวม 2.935 ล้านล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษี การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ฯลฯ คงเหลือรายได้สุทธิ 2.45 ล้านล้านบาท
การจัดทำงบประมาณรอบนี้สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (60-79) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (60-64) นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (58-64) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาลให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกลไกการบูรณการเชิงยุทธศาสตร์ทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติกระทรวง/หน่วยงาน มิติบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ (Agenda) และมิติบูรณาการเชิงพื้นที่ เป็นงบลงทุนครั้งแรกแตะ 23% เพิ่มจากปีก่อนหน้า สะท้อนว่ารัฐบาลมีความตั้งใจขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐเต็มที่
"รัฐบาลพยายามจัดทำงบให้ขาดดุลลดลง ค่อยๆ ปรับไปสู่งบสมดุล" นายสุรชัย กล่าว
รองประธาน สนช.กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมฯ รับหลักการในวาระแรกแล้ว จะมีการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาแปรญัตติจำนวน 50 คน เป็นโควตาของรัฐบาล 10 คน และ สนช.อีก 40 คน