นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า เตรียมส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาได้ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ซึ่งลงตัวแล้วว่า กสม.ก็จะถูกเซ็ตซีโร่เช่นกัน ส่วนองค์กรอิสระอื่นๆ จะมีการเซ็ตซีโรอีกหรือไม่นั้นต้องมาคุยทีละอันทีละเรื่อง เพราะแต่ละองค์กรอิสระก็มีเหตุผลที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องเซ็ตซีโร่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะโครงสร้างที่มาคุณสมบัติมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการเซ็ตซีโรก็ถือว่าเป็นประโยชน์ แต่คงจะยังไม่ไปชี้แจงกับ กกต.ในขณะนี้
"คนกำลังโกรธ เข้าใจยาก รอให้เขาใจเย็นลงก่อนดีกว่า" นายมีชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าว กรธ.ไม่มีสิทธิ์ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ผู้ที่มีสิทธิ์จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็คือ สนช. ถ้าหาก กกต.หรือ กรธ.มองว่าร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งผ่านที่ประชุมของ สนช.นั้นไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชน แบบนี้ก็จะต้องตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกัน และตกลงว่าอย่างไรก็จะส่งไปให้ สนช.พิจารณาอีกทีหนึ่ง แค่ กกต.เพียงฝ่ายเดียวมีความเห็นแย้งก็สามารถตั้ง กมธ.ร่วมได้แล้ว
นายมีชัย กล่าวว่า กรณีที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง สภาขับปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ระบุว่า กรธ.ร่างกฎหมายโดยไม่รอบคอบแล้วส่งไปให้ สนช.นั้นเป็นความเข้าใจผิด เพราะในระบอบสภา สนช.เป็นองค์กรที่ออกกกฏหมายขั้นสุดท้าย ไม่ว่าใครจะร่างเป็นอย่างไร ทั้งรัฐบาล หรือ กรธ.ร่างกฎหมายให้ สนช.แล้ว สนช.ไม่เห็นด้วยก็แก้ไขได้ แต่แก้ไขแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่เขาแก้ไขนั้นไปได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องทำดีหรือไม่ดี เป็นเรื่องของมุมมองที่ต่างกัน