ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเอกฉันท์รับหลักการในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน วาระที่ 1 ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในรายละเอียดจำนวน 19 คน โดยกำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน
โดยในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวน 3 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี
สำหรับการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว ยังกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วย แต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย
ขณะที่อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่สำคัญ คือ ให้หน่วยงานของรัฐมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงานเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แต่ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น
นอกจากนี้ เมื่อหน่วยงานรัฐได้รับข้อเสนอแนะจากผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมายหรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใดๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนแล้วนั้น ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ในกรณีมีเหตุจำเป็นไม่อาจแก้ไขได้เสร็จภายในกำหนดดังกล่าว จะขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 60 วัน หากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้วหน่วยงานของรัฐยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอันทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบและดำเนินการตามหน้าที่โดยเร็วต่อไป