นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยภายหลังเดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อวินิจฉัยว่า กรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมานั้น การออกคำสั่งดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 52 หรือไม่ ? เนื่องจากเป็นคำสั่งที่ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียอธิปไตยบูรณภาพแห่งอาณาเขตที่ประเทศไทยมีอธิปไตย และก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน และอาจเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ
ทั้งนี้ เนื่องจากในคำสั่ง คสช.ที่30/2560 กำหนดให้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล วิศวกรและสถาปนิกของจีน ได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้การบังคับของพระราชบัญญัติวิศวกร 2542 และพระราชบัญญัติสถาปนิก 2543 ซึ่งหากบุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับโครงการฯหรือกับสภาพแวดล้อมและคนไทย จะไม่สามารถนำกฎหมายดังกล่าวมาดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายไทยหรือขึ้นต่อศาลไทยได้ นอกจากนั้นยังเป็นการยกเว้นการนำกฎหมายของไทยมาใช้ปฏิบัติบังคับกับโครงการฯอีกกว่า 7 ฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ฯลฯ จะทำให้โครงการฯและบุคคลธรรมดา นิติบุคคล วิศวกรและสถาปนิกของจีน มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของคนไทยโดยชัดแจ้ง
อีกทั้งคำสั่งดังกล่าวเป็นการขัดต่อหลักธรรมาภิบาล (มาตรา 75 ) ขัดต่อวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ (มาตรา 62, 76) และเป็นการเลือกปฏิบัติ (มาตรา 27) ที่กำหนดให้มีการใช้อำนาจการกำหนดราคากลางได้ตามอำเภอใจโดยการใช้อำนาจการยกเว้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 107/3 แห่ง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2554
นอกจากนั้น หากโครงการดังกล่าวนำไปสู่การปฏิบัติและลงนามในสัญญากันระหว่างไทย-จีน รัฐบาลจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าข่ายขัดต่อมาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย