นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือเรื่องร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน (พ.ร.บ.สื่อฯ) ร่วมกับตัวแทนสภาวิชาชีพ 11 องค์กรว่า 11 องค์กรที่มาหารือในวันนี้ เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งจากนี้จะมีการเชิญสื่อแขนงอื่น เช่น วิทยุ, โทรทัศน์ รวมถึงสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) และนักวิชาการมาหารือร่วมกัน เพื่อให้ช่วยพิจารณาว่าสิ่งที่ สปท.ส่งมานี้ จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นใดเพิ่มเติมหรือไม่ ก่อนที่จะส่งเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัตแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
ด้านนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อที่เคยคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายวิษณุ โดยประเด็นที่เห็นตรงกัน คือ ต้องมีการปฏิรูปสื่อ ซึ่งได้หารือกันถึงรูปแบบว่าควรเป็นอย่างไร หลังจากนี้รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรคงขึ้นอยู่กับรัฐบาล โดยองค์กรสื่อพร้อมที่จะติดตามและเข้ามามีส่วนร่วม
สำหรับกรณีสัดส่วนในสภาวิชาชีพตาม ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่ให้คนในรัฐบาลมาร่วมด้วย ซึ่งเป็นกระแสถูกโจมตีก่อนหน้านี้นั้น นายชวรงค์ กล่าวว่า ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกรณีนี้ร่วมกันว่าแต่ละประเทศมีรูปแบบอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลได้พิจารณา ส่วนข้อกังวลเรื่องการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น วันนี้ยังไม่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาหารือ
ด้านนายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ สปท.ได้ส่งร่างกฎหมายมาให้รัฐบาลแล้ว โดยนายวิษณุจะขอรับฟังความเห็นต่างๆ จากองค์กรสื่อก่อนที่จะดำเนินการ โดยองค์กรสื่อยืนยันว่า กฎหมายที่จะออกมานั้น ต้องส่งเสริมการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน มุ่งเน้นควบคุมด้านจริยธรรม หากพบว่าสื่อสำนักใดกระทำความผิดทั้งในแง่ของกฎหมายและจริยธรรมก็ควรจะต้องมีองค์กรกลางเข้ามาดูแล หรืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมร้องเรียนได้
สำหรับการหารือในครั้งนี้ เป็นการพูดคุยกันเบื้องต้น โดยจะมีการพูดคุยกันอีกในครั้งต่อไป และในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ สมาคมนักข่าวฯ จะพาตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อที่ควบคุมกันเองแล้วได้ผล จากประเทศสวีเดนและออสเตรเลีย มาร่วมหารือกับนายวิษณุด้วย เพื่อถ่ายทอดข้อมูลการควบคุมกันเองของสื่อมวลชนให้รัฐบาลได้รับทราบ