ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้มีระบบ“ไพรมารีโหวต" คือ การเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคและสาขาพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งแต่เดิมนั้นจะเป็นหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคเป็นคนเลือกทำให้มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้านจากหลายฝ่าย เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล"มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ สรุปผลได้ ดังนี้
1. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกระบบ “ไพรมารีโหวต"อันดับ 1 ยังไม่ค่อยเข้าใจ 40.30% เพราะ เพิ่งมีการประกาศออกมาได้ไม่นาน เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ไม่เคยมีระบบการเลือกตั้งแบบนี้มาก่อน ฯลฯ อันดับ 2 ไม่เข้าใจเลย 34.29% เพราะ ไม่ได้ติดตามข่าว ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่ามีวิธีการขั้นตอนอย่างไร ไม่เคยได้ยินมาก่อน ฯลฯ อันดับ 3 พอเข้าใจ 25.41% เพราะ เคยเห็นตัวอย่างจากต่างประเทศ เป็นระบบที่อเมริกาใช้ เคยศึกษาข้อมูลมาบ้าง ฯลฯ
2. ข้อดี-ข้อเสีย ของ “ไพรมารีโหวต"
ข้อดี อย่างแรก คือ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม 71.98%, ได้ผู้สมัครที่มาจากตัวแทนประชาชนที่แท้จริง 68.15%, ป้องกันไม่ให้เกิดระบบนายทุน 64.93%
ข้อเสียอย่างแรก คือ สร้างความขัดแย้งภายในพรรค 72.32%, ยุ่งยาก หลายขั้นตอน ใช้เวลามาก 63.71%, พรรคเล็กปฏิบัติได้ยาก มีข้อจำกัด 60.84%
3. การเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ ประชาชนคิดว่าการส่งตัวแทนลงสมัคร ส.ส. น่าจะใช้แบบใด อันดับ 1 แบบไพรมารีโหวต คือ สมาชิกและสาขาพรรคมีส่วนร่วมในการเลือก 49.76% เพราะ ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม เป็นวิธีที่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนิยมใช้ มีผลดีในระยะยาว ป้องกันระบบนายทุน เป็นทางเลือกใหม่ ฯลฯ อันดับ 2 แบบเก่า คือ หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคเป็นคนเลือก 34.98% เพราะ เชื่อในการพิจารณาและตัดสินใจของหัวหน้าพรรค เป็นระบบที่ใช้มานาน เป็นวิธีที่เหมาะกับสังคมไทย ฯลฯ อันดับ 3 ไม่แน่ใจ 15.26% เพราะ ยังไม่เคยใช้ระบบไพรมารีโหวต ไม่รู้ข้อดีข้อเสียจะใช้วิธีการใดก็ได้แต่ขอให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส ฯลฯ
“สวนดุสิตโพล" สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,149 คน ระหว่างวันที่ 19-23 มิถุนายน 2560