รายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันนี้นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง อาทิ ยาบ้า กว่า 87 ล้านเม็ด ยาไอซ์ น้ำหนักกว่า 1,185 กิโลกรัม เป็นต้น มูลค่ารวมกว่า 20,719 ล้านบาท พร้อมกันนี้กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ปส.) ได้นำกัญชาและกระท่อมของกลางมาร่วมเผาอีกจำนวนกว่า 6,853 กิโลกรัม มูลค่ารวมกว่า 54 ล้านบาท เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ในวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ณ ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
สำหรับปริมาณยาเสพติดให้โทษของกลางที่จะเผาทำลาย ประกอบด้วย ยาเสพติดให้โทษของกลางที่คลังยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำนวน 9,321 กิโลกรัม จาก 6,546 คดี มูลค่ากว่า 20,719 ล้านบาท ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า น้ำหนักกว่า 7,886 กิโลกรัม (ประมาณ 87 ล้านเม็ด) มูลค่าประมาณ 17,528 ล้านบาท ยาไอซ์ น้ำหนักกว่า 1,185 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 2,964 ล้านบาท เฮโรอีน น้ำหนักกว่า 169 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 182 ล้านบาท ฝิ่น น้ำหนักกว่า 32 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 3.6 แสนบาท โคเดอีน น้ำหนักกว่า 18 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 35,792 บาท โคคาอีน น้ำหนักกว่า 12 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 38 ล้านบาท รวมทั้งกัญชาและพืชกระท่อม จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จำนวนกว่า 6,853 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 54 ล้านบาท โดยของกลางทั้งหมดจะถูกนำไปเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอะเรชั่น (Pyrolytic Incineration) ที่อุณหภูมิสูงไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดการสลายตัวของโมเลกุลกลายเป็นคาร์บอนในระยะเวลาอันรวดเร็วและไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม
นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สถิติการเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางตั้งแต่ปี 2520-2560 ดำเนินการรวม 47 ครั้ง น้ำหนักรวมกว่า 122,453 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 183,645 ล้านบาท โดยยาเสพติดของกลางที่เผาทำลายมากที่สุดได้แก่ เมทแอมเฟตามีน และแอมเฟตามีน จำนวน 68,707 กิโลกรัม รองลงมาฝิ่นและอื่นๆ 28,558 กิโลกรัม เฮโรอีน จำนวนกว่า 25,018 กิโลกรัม และเอ็คซ์ตาซี่ จำนวนกว่า 168 กิโลกรัม
ในส่วนการบำบัดผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานตามนโยบายของรัฐบาล นำผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด รวมถึงการปรับปรุงมาตรฐานการบำบัดรักษา ในปีงบประมาณ 2560 ตั้งเป้านำผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัด 220,000 คน แบ่งเป็นระบบสมัครใจ 74,000 คน ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 53,300 คน บังคับบำบัด 72,500 คน ต้องโทษ 20,200 คน โดยตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 ถึง 31 พฤษภาคม 2560 นำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดฯ แล้ว 121,167 คน คิดเป็นร้อยละ 55.07 ในระบบสมัครใจ 34,553 คน ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 36,111 คน ระบบบังคับบำบัด 35,622 คน และระบบต้องโทษ 14,881 คน โดยมีโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ กว่า 800 แห่ง พร้อมบำบัดรักษาด้วยระบบบำบัดที่ได้มาตรฐานสากล