นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รับหนังสือจากตัวแทนพรรคการเมืองขนาดเล็ก 19 พรรค นำโดย พรรคชาติไทยพัฒนา และกลุ่มปฏิรูปการเมืองยุคใหม่ ที่ได้เข้ายื่นข้อท้วงติงต่อร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบ
โดยต้องการให้มีการทบทวนบทบัญญัติของการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาตัวแทนสาขาพรรคหรือตัวแทนจังหวัด เสนอให้พรรคเลือกส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง (ไพรมารีโหวต) ที่กำหนดไว้ในร่าง ดังกล่าว เนื่องจากมีปัญหาในทางปฏิบัติ และทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กเสียเปรียบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ อีกทั้ง ขอให้ กรธ. รับความเห็นดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกัน 3 ฝ่ายเพื่อให้แก้ไขในบทบัญญัติด้วย
ด้านข้อเสนอของพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า ให้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลต่อประเด็นการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคการเมือง ว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้ ให้พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.รับฟังความคิดเห็นจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนประจำจังหวัด
ส่วนการใช้ระบบไพรมารีโหวตตามบทบัญญัติหลักให้นำไปใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งถัดไป เพื่อให้ประชาชน พรรคการเมือง และสมาชิกพรรค มีเวลาเตรียมความพร้อมรองรับระบบใหม่ เช่น ขั้นตอนหาสมาชิกพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ทำกิจกรรมที่เป็นที่ยอมรับต่อการตั้งสาขาพรรค และการหาตัวแทนพรรคให้ครบทุกเขตเลือกตั้ง เป็นต้น
ด้านนายชาติชาย กล่าวว่า จะนำข้อเสนอและข้อทักท้วงของตัวแทนพรรคการเมืองเข้าสู่ที่ประชุม กรธ.ในช่วงบ่ายวันนี้ ส่วนจะมีการตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายเพื่อมาพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้
ทั้งนี้ มีหลักการที่ต้องพิจารณา คือ หากบทบัญญัติที่ตัวแทนพรรคการเมืองทักท้วงมีปัญหาทางข้อกฎหมาย กรธ.ต้องหารือเพื่อวางหลักพิจารณากับ สนช. แต่หากพิจารณาแล้วว่าเป็นประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติของพรรคการเมือง ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้พิจารณากำหนดระเบียบหรือขั้นตอนอื่นๆ รองรับ
"เรื่องนี้ต้องพิจารณา โดยหลักสำคัญด้วยว่าการบัญญัติกฎหมายใดต้องไม่สร้างปัญหาในทางปฏิบัติด้วย ทั้งนี้หลักการของระบบไพรมารี่โหวต ที่ให้สมาชิกพรรคหรือตัวแทนพรรคมีส่วนร่วมคัดเลือกผู้สมัครนั้นเป็นสิ่งที่กรธ.เห็นด้วยและยอมรับ" นายชาติชาย กล่าว