ประธาน กรธ.นำทีมนั่งกรรมาธิการร่วมถกหาทางแก้ปัญหาไพรมารีโหวต

ข่าวการเมือง Monday June 26, 2017 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองทำหนังสือและจดหมายเปิดผนึกถึง กรธ.ทักท้วงเกี่ยวกับระบบการคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้น (ไพรมารีโหวต) คงเพราะเห็นปัญหา นอกจากปัญหาในทางปฏิบัติของพรรคการเมืองแล้ว พรรคการเมืองใหญ่ก็มีปัญหา โดยเฉพาะจะนำเงินและเวลาที่ไหนไปทำไพรมารีโหวต

ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่เห็นปัญหาดังกล่าว ดังนั้น กรธ.ต้องลงไปดูในรายละเอียดของปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาศึกษาข้อทักท้วงจากทางพรรคการเมืองต่างๆ เพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายยังไม่ได้ส่งเรื่องกลับมายัง กรธ.

"ถ้าร่างกฎหมายนั้นส่งผลทำให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งไม่ได้ ทำให้การเลือกตั้งทำไม่ได้ หรือการเลือกตั้งมีปัญหา ถ้าเป็นแบบนี้คงจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อ กรธ.ได้ฟัง กกต.เข้าชี้แจงแล้ว ก็บอกว่าร่างกฎหมายพรรคการเมืองว่าด้วยไพรมารีโหวตนั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งได้ไม่มีปัญหา แต่เมื่อ กรธ.ได้ถามในรายละเอียด กกต.ก็ตอบไม่ได้ ดังนั้นตอนนี้ กรธ.เลยต้องศึกษาถึงปัญหาของการทำไพรมารีโหวตเอง" นายมีชัย กล่าว

ส่วนปัญหาที่มีนั้นคงไม่ใช่แค่ในทางปฏิบัติ แต่เป็นปัญหาว่าด้วยการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อาทิ เรื่องที่ กกต.จะเป็นผู้ให้ใบเหลือง-ใบแดง กรณีที่มีการร้องเรียนว่ากระบวนการไพรมารีโหวตไม่ถูกต้อง เพราะหาก กกต.มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบระบบไพรมารีโหวตได้ โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งทั่วไปก็จะนำไปสู่การกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ

ประธาน กรธ.ยอมรับว่า หากมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณากฎหมายร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในสัดส่วนของ กรธ.จำนวน 5 คน ตนเองคงต้องเข้าร่วมด้วย เพื่อจะช่วยกันหาทางว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งตนเองอาจจะต้องไปนั่งในกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณากฎหมาย ทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวต และร่าง พ.ร.บ..ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย

อย่างไรก็ดี ถ้าหากไพรมารีโหวตส่งผลทำให้เวลาการเลือกตั้งขยายออกไป กรธ.จะสามารถแก้ไขกฎหมายวันเลือกตั้งทำให้การประกาศกฤษฎีกาเรื่องวันเลือกตั้งถูกขยายออกไปเพื่อเอื้อแก่การทำไพรมารีโหวตได้หรือไม่ นายมีชัย ระบุ ว่า ถ้ามีเวลาก็ขยายได้ แต่เกรงว่าจะไม่มีเวลา เพราะแค่จะทำให้พรรคการเมืองถูกต้องตามร่างกฎหมายลูกก็ใช้เวลานานแล้ว

ขณะที่นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. กล่าวว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีหนังสือแจ้งว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้มีหนังสือส่งเอกสารความเห็นว่าร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่สนช.ให้ความเห็นชอบแล้ว ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 วรรคห้า บัญญัติว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง หรือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เห็นว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งประธานสนช.ภายใน 10 วัน

ทั้งนี้ นับแต่วันที่ได้รับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ นั้น และให้สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 1 คณะ จำนวน 11 คน ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกสนช. และ กรธ. ฝ่ายละ 5 คนเพื่อพิจารณาและเสนอต่อสนช.ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบ

โดยที่ประชุม กรธ.มีมติให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเข้าเป็นกมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต.จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายประพันธ์ นัยโกวิท นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นายภัทระ คำพิทักษ์ และนายศุภชัย ยาวะประภาษ ซึ่งทางวิป สนช.จะนำเรื่องดังกล่าวหารือในวันพรุ่งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ