นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีที่พรรคการเมืองจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และ พ.ร.บ.ขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นห่วง เพราะข้อเท็จจริงได้มีการรับฟังความเห็นมาแล้วระดับหนึ่งในขั้นตอนของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญยุทธศาสตร์ ที่มี พ.ต.ท.ยงยุทธ์ สาระสมบัติ ประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เปิดรับฟังความเห็นแล้ว และได้ยกร่างมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งทาง ครม.ได้มีการปรับแก้ในรายละเอียด และผ่านความเห็นชอบในวันที่ 4 เม.ย.60 ก่อนที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ในวันที่ 6 เม.ย.60
"ถึงแม้ร่างจะเสร็จก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้กฏหมายมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่ไม่ได้กำหนดวันที่จะเริ่มต้นกำหนดการไว้ และหากทำหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทั้งการยกร่าง การรับฟังความคิดเห็น และการพิจารณาของ สนช.อาจทำให้เลยกรอบเวลาของกฏหมายที่กำหนดได้" นายวิษณุ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องพิจารณาจะทำให้กระบวนการประกาศใช้กฏหมายหยุดชะงักไปก่อน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวสมาชิก สนช.และ สปท.เตรียมลาออกเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรกระทบการทำงาน เพราะ สนช.หากลาออกมาก็สามารถตั้งเพิ่มได้ ส่วน สปท.ต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระอยู่แล้ว แต่อย่าเพิ่งไปตั้งข้อสังเกตุว่าทุกคนจะลาออกไปเล่นการเมืองทุกคน พร้อมทั้งกล่าวติดตลกในช่วงท้ายว่า รัฐมนตรีคนไหนลาออกบ้าง