ซูเปอร์โพล เผยดัชนีความสุขฯ เกษตรกรอยู่ที่ 8.29 แนวโน้มเปลี่ยนใช้ที่ดินโดยขาดการวางแผน

ข่าวการเมือง Sunday July 2, 2017 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยว่า ค่าเฉลี่ยความสุขมวลรวมของเกษตรกรในปัจจุบันสูงถึง 8.29 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 87.6 มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ส่วนเกษตรกรที่เหลืออีกร้อยละ 12.4 ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ขณะที่มีร้อยละ 34.2 เป็นเกษตรกรมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ร้อยละ 31.0 เป็นเกษตรกรตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายเรื่อยมาจนถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ ร้อยละ 26.0 เป็นเกษตรกรมาตั้งแต่รุ่นก่อนปู่ย่าตายาย และร้อยละ 8.8 เป็นเกษตรกรรุ่นตนเองเป็นผู้บุกเบิก

สำหรับการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ทำกินทางการเกษตร พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 75.3 ระบุในอดีตปลูกข้าวอย่างเดียวตอนนี้ลดลงเหลือร้อยละ 57.8 ขณะที่ร้อยละ 15.5 ระบุในอดีตปลูกข้าวกับพืชอื่นๆ เช่น ทำไร่ ทำสวน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30.0 และร้อยละ 9.2 ระบุในอดีตทำไร่ทำสวนอย่างเดียว เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.2

ขณะที่นายสุธี อนันต์สุขสมศรี ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรจำนวนมากกำลังเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ทำกินของตนเองและมีค่าความสุขมวลรวมที่สูงมาก โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้น่าจะเกิดมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การเปลียนแปลงการใช้ที่ทำกินของเกษตรกรที่ขาดการวางแผนหรือวางแผนไม่ดี จะก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถเรียกคืนย้อนกลับได้ เช่น ทำลายระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ ความเหลื่อมล้ำและภาระหนี้สาธารณะ ที่จะทำลายความสุขของเกษตรกรและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในการวางและโครงการต่างๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ส่งผลทำให้ขาดความยั่งยืนในการพัฒนาพื้นที่ของเกษตรกร

ด้านนายนิจ ตันติศิรินทร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การวางแผนพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 จำเป็นต้องทำข้อมูลด้วยระบบบิ๊กดาต้า (Big Data) มาใช้ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น โครงการวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบาย (Policy Impact) ในพื้นที่จังหวัดเขตระเบียงเศรษฐกิจ ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรม (Innovation Districts) ในระดับภูมิภาคและเมืองของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยโครงการเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ดีว่าภาครัฐได้เริ่มให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูล Big Data ในการพัฒนาที่ทำกินของเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีเพื่อความสุขที่ยั่งยืนของเกษตรกรและประชาชนทั้งประเทศ

ทั้งนี้ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ได้ทำการสำรวจเรื่อง การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ทำกิน กับความสุขของเกษตรกร จำนวน 557 ตัวอย่างกระจายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.-1 ก.ค.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ