นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผ่านนายศักดิ์ชัย เมทินีพิศาลกุล รองเลขาธิการฯ เพื่อขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริง สรุปสำนวน พร้อมส่งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ไต่สวนลงโทษหรือเอาผิดคณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และ รมว.คลัง กรณีใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ในฐานะสนับสนุน
เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดได้อนุมัติให้เอกชนดำเนินโครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครบนที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 4-2-34 ไร่ ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ที่บัญญัติว่าต้องเปิดประมูลเป็นการทั่วไป เพื่อให้บุคคลต่างๆ ที่สนใจเข้ามาประมูลใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐได้ แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดกลับเห็นชอบให้มูลนิธิหอชมเมืองเป็นผู้ดำเนินการโดยไม่มีการประมูลแข่งขัน โดยอ้างว่ากระทำได้โดยมีข้อยกเว้นตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐข้อ 24 ที่ระบุว่าจะสามารถยกเว้นให้ได้เฉพาะโครงการตามนโยบายของรัฐบาล แต่จากการตรวจสอบข้อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ปรากฏรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการประชารัฐหรือศาสตร์พระราชาแต่อย่างใด ดังนั้นข้ออ้างในการอนุญาตว่าโครงการดังกล่าวเป็นของรัฐนั้นจึงไม่น่าจะถูกต้อง และไม่สอดคล้องกับประกาศข้อ 24
เมื่อไม่สามารถกล่าวอ้างข้อ 24 ได้ก็ต้องไปดูที่ประกาศข้อ 22 และ 23 ที่บัญญัติว่า สามารถยกเว้นได้โดย รมว.คลัง แต่ข้อยกเว้นนั้นระบุว่า จะต้องมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่สามารถจะดำเนินการทั่วไปได้ แต่เรื่องการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครนั้นไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และไม่ได้เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้นจึงไม่เข้าเหตุผลตามประกาศดังกล่าว
นอกจากนี้สถานที่ก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครยังอยู่ใกล้กับโครงการของเอกชนที่กำลังก่อสร้างศูนย์การค้า คอมเพล็กซ์ และอาคารสูง 2-3 ตึก ซึ่งมีชื่อของผู้ประกอบการเอกชนดังกล่าวอยู่ในรายชื่อผู้ก่อตั้งและคณะกรรมการมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวพันกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุนี้ ดังนั้นการใช้อำนาจของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดจึงเชื่อว่าเป็นการใช้อำนาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย ขัดต่อ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนฯ และยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 ที่บัญญัติว่ารัฐต้องพึงปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในทางปกครอง ซึ่งในกรณีนี้เป็นการใช้อำนาจ ใช้ดุลพินิจไปยกที่ดินที่มีมูลค่าให้เอกชนเพียงรายเดียวใช้ประโยชน์ในระยะยาว 30 ปี จึงเป็นเรื่องเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้นตนเองจึงนำเรื่องมายื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป