รัฐบาลแจงความจำเป็นใช้คำสั่งม. 44 ผ่อนผันกม.เดินเรือ-กม.แรงงานต่างด้าว ห่วงกระทบศก.ในประเทศ

ข่าวการเมือง Tuesday July 4, 2017 18:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งชะลอการบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย และ พ.ร.ก.การบริหารการทำงานของคนต่างด้าว เนื่องจากเป็นพันธะกรณีที่ผูกพันกับต่างประเทศในเรื่องเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated fishing:IUU Fishing) โดยคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในวันนี้

"คสช.ได้พิจารณาถึงความจำเป็นอันไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ทั้งๆ ที่ได้พยายามหลีกเลี่ยง นั่นคือ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาสำคัญสองเรื่อง เรื่องแรก คือ การบังคับใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย อีกเรื่องหนึ่งคือการแก้ปัญหาอันเกิดจากการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารการทำงานของคนต่างด้าว..." นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า กฎหมายทั้งสองฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในเวลาใกล้เคียงกัน และก่อให้เกิดผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายทั้งสองฉบับออกมาบังคับใช้ถึงแม้จะรู้ว่าจะเกิดผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากต้องแก้ไขปัญหาที่มีพันธะกรณีกับต่างประเทศตามมาตรฐานสากล ภายในกรอบเวลาอันจำกัด ซึ่งหากไม่ดำเนินการก็จะถูกตอบโต้ทางการค้า เช่น ปฏิเสธไม่ซื้อสินค้าจากไทย

สาเหตุที่ต้องออกเป็น พ.ร.ก.การบริหารการทำงานของคนต่างด้าว เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่มี 145 มาตรา หากออกเป็น พ.ร.บ.จะต้องใช้เวลาในการพิจารณานานกว่า 6 เดือน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่บีบรัด ขณะเดียวกันหากจะใช้มาตรา 44 นั้นจะไม่ใช้กับเรื่องที่ยาวๆ เช่นนี้ แต่จะใช้ไม่เกิน 10 มาตรา

"คำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ถ้าจะออกมาใช้ต้องถือเป็นปัญหาเฉพาะหน้าแก้ปัญหาชั่วคราว แต่ 145 มาตราที่เป็นพระราชกำหนดเป็นกฎหมายยั่งยืนถาวร" นายวิษณุ กล่าว

สาระของกฎหมายฉบับนี้คือ ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถระบุจำนวนได้ ส่วนแรกเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายมีเอกสารครบถ้วน ซึ่งส่วนใหญ่มาทำงานด้านบริหาร ส่วนที่สองเป็นแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันแต่ไม่ปฏิบัติตามใบอนุญาต เช่น ไม่ได้ทำงานตามภูมิลำเนาที่กำหนด หรือนายจ้างที่กำหนด ซึ่งสามารถแจ้งสำนักงานจัดหางานให้ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ และส่วนที่สามเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายโดยแท้ ซึ่ง IUU และประเทศเพื่อนบ้านจับตาดูว่าประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไร

"การเปิดรับจดทะเบียนใหม่โดยไม่ต้องให้กลับประเทศจะผิดข้อตกลงที่ทำไว้กับต่างประเทศ ผิดข้อตกลงที่พูดไว้กับ IUU ต้องให้ประเทศเจ้าของบ้านได้ตรวจสอบสถานภาพ พิสูจน์บุคคล มีประวัติอาชญากรรม ฆ่าใครแล้วหนีมาเมืองไทยหรือเปล่า อย่างนี้เป็นเรื่องอกเขาอกเรา เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องส่งกลับออกไป อยู่ๆ มาขอรับจดทะเบียนในประเทศแล้วขอรับทำงานเลย เป็นไปไม่ได้" นายวิษณุ กล่าว

เนื่องจากบทลงโทษในกฎหมายนี้มี 4 มาตราที่กำหนดโทษขั้นต่ำให้ปรับนายจ้าง 4 แสนบาท ต่อลูกจ้างต่างด้าวผิดกฎหมาย 1 คน โดยไม่ได้ดูสถานะของนายจ้าง ทำให้เกิดความเดือดร้อน เพราะถ้าทำผิดถึงศาลปรานีอย่างไรก็ให้ปรับต่ำกว่า 4 แสนบาทไม่ได้ และการที่กฎหมายฉบับนี้มีบทลงโทษที่รุนแรงเนื่องจากเป็นกฎหมายชุดเดียวกับกฎหมายค้ามนุษย์ที่มีอยู่ 4 ฉบับ ซึ่งก่อนหน้านี้ออกไปแล้ว 3 ฉบับ คือ กฎหมายประมง, กฎหมายแรงงานเด็ก และกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

หากไม่มีการชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไปจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นในระหว่างที่ คสช.ขยายเวลาออกไปอีก 180 วันก็ให้นายจ้างและลูกจ้างสลับสับเปลี่ยนไปดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งคาดว่าแรงงานต่างด้าวจะใช้เวลากลับประเทศไปดำเนินการตามขั้นตอนราว 2 เดือน

"ถึงอย่างไรก็ยังมีนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์ ไม่ลดราวาศอกให้กับการค้ามนุษย์ แต่เราก็ห่วงเศรษฐกิจภายในประเทศ ห่วงความสงบเรียบร้อยสังคมในประเทศ คงไม่ยอมให้อะไรก็ตามมาฉุด หยุดยั้งการพัฒนาประเทศ...เราไม่ต้องการให้แรงงานต่างด้าวทะลักออกนอกประเทศทีเดียว แต่ให้นายจ้างจัดแบ่งแรงงานสัก 3 ชุด ผลัดเปลี่ยนกันก็จะมีแรงงานหมุนเวียน" นายวิษณุ กล่าว

พร้อมกันนี้ให้กระทรวงแรงงานกลับได้ทบทวนกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะความจำเป็นในเรื่องการตั้งคณะกรรมการและการอนุญาตให้เสร็จภายใน 4 เดือนแล้วส่งกลับมาให้พิจารณา เพื่อดำเนินการแก้ไขให้สามารถสนองต่อพันธะที่มีกับต่างประเทศ สนองความต้องการในประเทศ และแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ

"น่าจะออกมาใช้ได้ในวันนี้ เพราะได้เสนอเรื่องไปถึงหัวหน้า คสช.เรียบร้อยแล้ว" นายวิษณุ กล่าว

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดงานงาน กล่าวว่า สำหรับแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายมีจำนวน 1.3 ล้านคน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันถึงวันที่ 31 มี.ค.61 มีจำนวน 1.3 ล้านคน และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายนั้นไม่สามารถระบุได้ชัดเขน แต่ไม่น่าจะมีจำนวนเกิน 1 ล้านคน

ส่วน พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับเรื่อง IUU แต่อีกส่วนเป็นเรื่องการจัดระเบียบไม่ให้มีสิ่งกีดขวางเส้นทางคมนาคม ซึ่งหลังจากพ้นกำหนดที่กฎหมายให้ผู้กระทำผิดมาแจ้งแล้ว มีผู้มาแจ้งเพียง 2 หมื่นราย จากที่คาดว่าจะมีนับแสนราย เนื่องจากการแจ้งเท่ากับยอมรับสภาพความผิดจึงไม่มีผู้มาแจ้ง

"ลำพังตั้งหาบเร่แผงลอยก็กีดขวางคนเดินบนทางเท้า คนใช้รถใช้ถนน ลองคิดต่อไปว่าถ้ามีอาคาร มีโพงพาง มีกระชัง ยื่นไปในแม่น้ำลำคลองจะกีดขวางการสัญจรทางเรือขนาดไหน บางแห่งเกือบจะไม่สามารถใช้เส้นทางน้ำเพื่อการจราจรได้เลย" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า ครั้งนี้จึงใช้มาตรา 44 ขยายเวลาออกไปอีก 60 วัน โดยผู้แจ้งจะไม่มีความผิดและไม่มีโทษปรับ หลังจากนั้นเมื่อขึ้นทะเบียนแล้วเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้หรือไม่ ถ้าอนุญาตก็จะต้องเสียค่าเช่า แต่ถ้าไม่อนุญาตก็ต้องรื้อออก

"ค่าเช่าที่จ่ายให้แก่ท้องถิ่นขึ้นอยู่กับชนิด ถ้าเช่าทำกระชังเลี้ยงปลาก็ถูกหน่อย เช่าเป็นเรือนแพก็แพงขึ้นมานิด เช่าเป็นบ้านก็อาจจะแพงขึ้นมาอีกหน่อย เป็นอาคารถาวรวัตถุก็แพงขึ้นมาเป็นลำดับ แต่ถ้าไม่อนุญาตก็ต้องรื้อสถานเดียว" นายวิษณุ กล่าว

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับผู้ทำผิดที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการเข้าไปในพื้นที่ก่อนปี 2515 ที่จะมีกฎหมายกำหนดให้ต้องแจ้งกรมเจ้าท่าเพื่อขออนุญาต ต้องเตรียมหลักฐานเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ส่วนผู้ที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ต้องมาแจ้งกรมเจ้าท่าเพื่อขึ้นทะเบียนไว้

ส่วนผู้ทำผิดที่เข้าไปในพื้นที่หลังปี 2515-2537 เจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้อยู่ต่อไปหรือไม่ โดยพิจารณาว่าสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจะไม่มีลักษณะที่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ หรือทำให้ทางเดินน้ำเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, การล่วงล้ำลำน้ำให้กระทำเท่าที่จำเป็น และไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือผังเมือง

และผู้ทำผิดที่เข้าไปในพื้นที่หลังปี 2537-2560 จะกำหนดสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ต้องขออนุญาตไว้ 11 ประเภท คือ ท่าเทียบเรือ, สะพานที่ปรับระดับและโป๊ะเทียบเรือ, สะพานข้ามแม่น้ำหรือข้ามคลอง, การวางท่อหรือสายเคเบิ้ล, เขื่อนกันน้ำเซาะ, คานเรือ, โรงสูบน้ำ, กระชังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, ท่าเทียบเรือชนิดทางลาดในแม่น้ำโขง, ปะการังเทียม, สิ่งปลูกสร้างสำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ

แต่นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไปจะไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ยกเว้นส่วนราชการที่มีความจำเป็นต้องล่วงล้ำลำน้ำเพื่อประโยชน์แห่งทางสาธารณะ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวว่า ที่ประชุม คสช.ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 ใน 4 มาตรา ออกไปอีก 6 เดือน เพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย โดยมาตราที่มีการยกเว้นนั้นเกี่ยวข้องกับการเอาผิดนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งมีแรงงานทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายให้ไปเปลี่ยนจัดทำเอกสารให้ถูกต้อง เพราะหากไม่ดำเนินการแก้ไขก็จะมีผลกระทบต่อพันธะสัญญาระหว่างประเทศ และทำให้ต่างประเทศไม่รับซื้อสินค้าจากไทย

พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายไปดูเรื่องการรับจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่จะต้องรวดเร็วและเป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการและลูกจ้างให้ทำตามขั้นตอนกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระหว่างที่คำสั่งมาตรา 44 มีผลบังคับใช้ จะต้องไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ โดยจะตรวจสอบเส้นทางจังหวัดตากถึง อ.แม่สอด หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจเข้าไปรับผลประโยชน์ จะต้องได้รับโทษหนัก และให้ทหารไปช่วยดูแลเรื่องดังกล่าวด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ