ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาข้อโต้แย้ง 6 ประเด็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว
"จำนวนผู้เข้าประชุม 201 คน เห็นด้วย 194 ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 7 เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะได้ส่งไปให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 81 ต่อไป" นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุมฯ กล่าว
โดยที่ประชุม สนช.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาข้อโต้แย้ง 6 ประเด็นเสร็จแล้ว โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าทั้ง 6 ประเด็นโต้แย้งของ กกต.ไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และคำชี้แจงของ กกต.ในทุกประเด็นไม่อาจโต้แย้งได้
นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ข้อโต้แย้งในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้ง 6 ประเด็น คือ มาตรา 11, 12, 26, 27, 42 และ 70 นั้นไม่ได้เป็นการต่อสู้หรือออกมาปกป้องเพื่อความเป็นอยู่ของตัวเอง แต่เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระทั้งหมด เพราะเป็นการบัญญัติกฎหมายที่ไม่ตรงตามเจตนายรมย์ของรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่มีความเสมอภาค และขาดการถ่วงดุล
สำหรับข้อโต้แย้งของ กกต.ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย มาตรา 11 วรรคสาม เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการสรรหา กกต., มาตรา 12 วรรคหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กกต.ที่ระบุว่า ไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองใดๆ, มาตรา 26 อำนาจหน้าที่ของ กกต.แต่ละคนในการสั่งระงับการเลือกตั้งที่เห็นว่าไม่สุจริตและเที่ยงธรรมในบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้ง, มาตรา 27 ที่กำหนดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต.ให้ควบคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง, มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ กกต.มอบอำนาจให้เลขาธิการ กกต.หรือพนักงานของสำนักงานมีอำนาจสืบสวนสอบสวนและไต่สวนได้ และมาตรา 70 ที่บัญญัติให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่