"ศรีสุวรรณ" เตรียมยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกรณีกลาโหม-ทอ.จัดซื้อเครื่องบิน T-50TH 20 ก.ค.นี้

ข่าวการเมือง Thursday July 13, 2017 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า จะเดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีการจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ เนื่องจากเห็นว่า การจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH ดังกล่าว ไม่สอดคล้องใด ๆ กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 แต่อย่างใด เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ “รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อป้องกันประเทศ" ไม่ได้กำหนดให้ “รัฐต้องจัดให้มีการซื้อเครื่องบิน T-50TH ไว้เพื่อป้องกันประเทศ" แต่อย่างใด

อีกทั้ง “การเตรียมกำลัง" ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 นั้น มี “พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497" บัญญัติไว้รองรับชัดเจนอยู่แล้ว ที่กำหนดให้ให้เฉพาะชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์เพื่อรับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน อันถือได้ว่าเป็น “การเตรียมกำลัง" ไว้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติโดยชัดแจ้ง

"ดังนั้น การอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อการจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH จึงเป็น “การตะแบง" ที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด"

นอกจากนี้การอ้างมาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าหน่วยงานของรัฐซึ่งรวมถึงกองทัพอากาศต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุขของประชาชนโดยรวมนั้น เป็นการกล่าวอ้างโดยไม่คำนึงถึงมาตรา 3 วรรคแรกเสียก่อนที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยเป็นของกองทัพอากาศ หรือของกระทรวงกลาโหม หรือของรัฐบาลฝ่ายบริหารแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นการที่หน่วยงานรัฐจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น กองทัพอากาศควรที่จะต้องไปพิจารณาและปฏิบัติให้เป็นไปตามหมวดที่ 5 ว่าด้วย “หน้าที่ของรัฐ" ในมาตรา 51 มาตรา 53 ประกอบมาตรา 62 และมาตรา 63 ด้วย จึงจะถูกต้อง

การอ้างมาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่ารัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราชอธิปไตยบูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหารที่มีประสิทธิภาพนั้น

"ข้ออ้างดังกล่าวนั้น สอดคล้องกับรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงกับบูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐอย่างไร เมื่อเทียบกับ กรณีเขาพระวิหาร กรณีที่มีชาวกัมพูชาเข้ามายึดครองที่ดินทำกินบริเวณหนองจาน อ.โคกสูง จ.สระแก้ว กรณีพื้นที่ทับซ้อนแหล่งปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย และล่าสุดกรณีการอนุญาตให้สถาปนิก และวิศวกรจีนเข้ามาก่อสร้างและดำเนินการรถไฟความเร็วสูง อย่างไร กองทัพอากาศได้ปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องกับกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง"

ทั้งนี้มาตรา 52 ดังกล่าวเป็นการบัญญัติให้ “รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ" ไม่ใช่กำหนดให้ “รัฐต้องจัดให้มีการซื้อเครื่องบิน T-50TH ไว้" แต่อย่างใด ซึ่งในยุค 4.0 นี้เขาใช้การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพในการรักษาบูรณภาพแห่งอาณาเขต สิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐกันแล้ว ไม่ใช่ “การสะสมอาวุธ" ดังที่กระทรวงกลาโหมกำลังดำเนินการในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และในรอบ 50 ปีที่ผ่านมากองทัพไทยได้สะสมอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายมหาศาลจนเกินจำเป็นแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะใช้ป้องกันประเทศหรือรักษาความมั่นคงแห่งรัฐอีกหรือ ?

อีกทั้งข้อกล่าวอ้างที่ว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สอดคล้องกับหลักความพอประมาณ หลักความมีเหตุผล หลักความโปร่งใส และมีขั้นตอนที่สามารถตรวจสอบได้อย่างไร ประชาชนคนธรรมดาสามารถตรวจสอบกระบวนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพได้อย่างไร โดยวิธีการใด และยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2555 ที่กล่าวอ้างนั้น กระทรวงกลาโหมได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเจ้าของประเทศที่แท้จริงเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ