ซูเปอร์โพล เผยเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นร่วมกับทำนามีเงินเหลือเก็บมากขึ้น

ข่าวการเมือง Sunday July 16, 2017 09:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นโดยไม่ปลูกข้าว โดยเฉลี่ยไม่มีเงินเหลือในกระเป๋า เพราะติดลบอยู่ที่ 469 บาท เนื่องจากมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่ารายจ่าย คือ 15,166 บาท ต่อ 15,635 บาท ขณะที่กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวและพืชชนิดอื่นๆ เช่น พืชไร่ พืชสวนร่วมด้วย โดยเฉลี่ยมีเงินเหลือเก็บในกระเป๋าสูงสุดเฉลี่ย 5,746 บาทต่อเดือน เนื่องจากรายได้เฉลี่ยสูงสุดและมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่ารายจ่าย คือ 17,987 บาท ต่อ 12,241 บาท ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวอย่างเดียว โดยเฉลี่ยมีเงินเหลือในกระเป๋าอยู่ที่ 4,197 บาทต่อเดือน เนื่องจากมีรายได้เฉลี่ยมากกว่ารายจ่าย คือ 12,071 บาท ต่อ 7,874 บาทต่อเดือน

โดยจำนวนมากเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.3 ไม่มั่นใจว่าจะมีลูกหลานสืบทอดอาชีพเกษตรกร และร้อยละ 13.8 ระบุไม่มี และเกินครึ่งเล็กน้อยหรือร้อยละ 51.9 ระบุมี และมั่นใจว่าลูกหลานจะสืบทอดอาชีพเกษตรกรต่อไปอย่างแน่นอน

เมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินในกระเป๋าของเกษตรกร จากผลผลิตทางการเกษตร พบว่า กลุ่มเกษตรกรทีมีลูกหลานสืบทอดอาชีพเกษตรกรแน่นอน และกลุ่มเกษตรกรที่มีลูกหลานแต่ยังไม่มั่นใจว่าพวกเขาจะยึดอาชีพเกษตรกรต่อไปหรือไม่ มีเงินเหลือเก็บเฉลี่ยอยู่ที่ 4,407 บาท และ 4,749 บาทต่อเดือน แต่กลุ่มเกษตรกรที่ไม่มีลูกหลานสืบทอดอาชีพเกษตรกร ไม่มีเงินเหลือเก็บเพราะมียอดเงินส่วนต่างเฉลี่ยติดลบอยู่ที่ 1,098 บาท

สำหรับนโยบายถูกใจที่มีผลให้ยึดอาชีพเกษตรกรต่อไป พบว่า อันดับแรกร้อยละ 28.4 ระบุ นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อราคาผลผลิตตกต่ำ อันดับสองร้อยละ 20.4 ระบุ หลักเศรษฐกิจพอเพียง และอันดับสามร้อยละ 16.9 ระบุโครงการพัฒนาเกษตรกรของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ร้อยละ 16.0 ระบุว่า เป็นอาชีพเดิมสืบทอดกันมา ไม่เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล ขณะที่รองๆ ลงไประบุว่าเป็น โครงการกลุ่มนาข้าว ฝ่ายเกษตรพันธุ์ข้าว และโครงการกู้หลวง เป็นต้น

เมื่อถามถึงหน่วยงานรัฐ ขวัญใจเกษตรกร พบประเด็นที่น่าสนใจคือ อันดับแรกหรือร้อยละ 30.5 ระบุ เกษตรอำเภอ ขึ้นเป็นที่หนึ่งครองใจเกษตรกร อันดับที่สองหรือร้อยละ 20.3 ระบุกระทรวงเกษตรฯ อันดับสามหรือร้อยละ 16.5 ระบุ ธ.ก.ส. อันดับที่สี่ หรือร้อยละ 13.0 ระบุ กรมการข้าว และรองๆ ลงไปคือ เกษตรจังหวัด สหกรณ์การเกษตรฯ อบต. กระทรวงวิทยาศาสตร์ และ ปศุสัตว์ เป็นต้น

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า การเข้าถึงเกษตรกรในระดับพื้นที่ผ่านเกษตรอำเภอคือหัวใจสำคัญ ด้วยสื่อบุคคลที่ประกอบไปด้วย ความรู้หลักวิชาการ (Knowledge) งบประมาณ (Funding) และเครือข่าย (Networking) น่าจะเป็นกลไกสำคัญนำยุทธศาสตร์ชาติลงสู่กลุ่มเกษตรกรให้มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับครัวเรือนและความสุขที่ยั่งยืน โดยข้อมูลเชิงลึกที่ค้นพบ ทำให้เป็นห่วงการบูรณาการเทียม ที่อาจจะใช้เม็ดเงินของรัฐโหมประชาสัมพันธ์สร้างภาพช่วยเหลือเกษตรกรผ่านสถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ควรบูรณาการแท้ร่วมกับ เกษตรอำเภอที่สามารถเข้าถึงพื้นที่และเข้าถึงหัวใจของเกษตรกรสร้างเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ กลายเป็นคลังสมองระดับพื้นที่หนุนเสริมความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนแท้จริง เพราะถ้าเกษตรอำเภอมีความรู้หลักวิชาการ มีเครือข่าย แต่ถ้าไม่มีงบประมาณสนับสนุนที่มากพอก็จะยากในการทำงานบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่ได้

ทั้งนี้ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ได้ทำการสำรวจเรื่องเงินในกระเป๋าของเกษตรกร กับผลการจัดอันดับหน่วยงานรัฐ ขวัญใจ เกษตรกร จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 557 ตัวอย่างกระจายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน - 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ