นิด้าโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสังกัดหน่วยงานหรือรูปแบบสถานะที่เหมาะสมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 30.32 ระบุว่า ให้คงเดิม คือไม่สังกัดกระทรวงใด แต่ให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี รองลงมาร้อยละ 24.48 ระบุว่า ย้ายไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม ร้อยละ 18.72 ระบุว่า ย้ายกลับไปกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 9.92 ระบุว่า ให้ไปสังกัดขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด (ส่วนภูมิภาค) ร้อยละ 6.40 ระบุ ให้จัดตั้งเป็นกระทรวงใหม่ ร้อยละ 0.56 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ ควรย้ายไปสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือส่วนใดก็ได้ แต่ต้องให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และต้องอยู่ในองค์กรที่สามารถตรวจสอบได้ และร้อยละ 9.60 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ส่วนกรณีที่มีแนวคิดให้แยกอำนาจการสอบสวนของตำรวจออกมาให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 50.48 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ควรให้อำนาจในการสอบสวนไว้กับตำรวจเช่นเดิม เพราะถือเป็นหน้าที่ของตำรวจโดยตรง ซึ่งตำรวจมีความรู้ มีประสบการณ์ มีความชำนาญในงานสอบสวน และทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว อีกทั้งตำรวจมีความใกล้ชิดกับประชาชนอยู่แล้ว การสะสางคดีต่าง ๆ จะได้มีความเชื่อมโยงและต่อเนื่องกัน หากให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบอาจเป็นการก้าวก่ายในหน้าที่ และเกิดความซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นควรให้อำนาจการสอบสวนไว้ที่ตำรวจเช่นเดิม ขณะที่ร้อยละ 44.24 ระบุว่า เห็นด้วยกับการแยกอำนาจในการสอบสวนของตำรวจออกมา เพราะการปราบปราม การจับกุม และงานสอบสวนควรแยกออกจากกัน ในปัจจุบันงานสอบสวนอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจมากเกินไป เป็นการช่วยลดภาระงานและของตำรวจให้น้อยลง ควรมีการแบ่งงาน กระจายหรือถ่วงดุลอำนาจ เป็นการป้องกันการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบ หรือการแทรกแซงของอำนาจมืด เป็นการสร้างความยุติธรรม เกิดความโปร่งใส ซึ่งหน่วยงานอื่นควรเข้ามามีส่วนร่วมในงานสอบสวนด้วย ทำให้การสอบสวนมีความชัดเจน และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น ร้อยละ 0.64 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ อยากให้ตรวจสอบทุกฝ่าย ให้ทำร่วมกันระหว่างตำรวจกับหน่อยงานอื่น ๆ ที่มารับผิดชอบ ขึ้นอยู่กับประเภท ความยากง่ายของคดี และยังคงให้อำนาจกับตำรวจแต่ควรให้หน่วยงานอื่นได้มีส่วนร่วมด้วย และร้อยละ 4.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับหลักเกณฑ์ที่ควรพิจารณาเป็นอันดับแรกในการคัดเลือกบุคลากรเข้ามารับราชการตำรวจในปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.20 ระบุว่า การจบจากสถาบันที่ผลิตบุคลากรตำรวจโดยตรง เช่น โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ร้อยละ 30.72 ระบุว่า คุณธรรม จริยธรรม ร้อยละ 19.76 ระบุว่า คะแนนสอบ รวมไปถึงทักษะและความสามารถ ร้อยละ 6.96 ระบุว่า ประสบการณ์ในการทำงาน ร้อยละ 4.56 ระบุว่า การจบจากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ร้อยละ 3.28 ระบุว่า ประวัติส่วนบุคคล ร้อยละ0.72 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ต้องรักในอาชีพตำรวจ มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ และความชำนาญเฉพาะด้าน และควรจบหรือมีความรู้ทางด้านกฎหมาย และร้อยละ 2.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.76 ระบุว่า เห็นด้วยที่จะนำมาตรา 44 มาใช้ในกรณีนี้ เพื่อช่วยให้การปฏิรูปตำรวจเป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีระบบ มีระเบียบ และเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จะได้ไม่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน ลดการทุจริตและปัญหาคอร์รัปชันได้ โดยเฉพาะการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตำรวจบางคน ซึ่งการแก้ไขหรือดำเนินการบางอย่างต่างมีข้อจำกัด ดังนั้นการใช้มาตรา 44 น่าจะส่งผลดีต่อการปฏิรูปตำรวจ ขณะที่ร้อยละ 27.84 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการแทรกแซงอำนาจเกินขอบเขตและใช้มาตรา 44 พร่ำเพรื่อจนเกินไป ดูเป็นการกดดัน บังคับ กึ่งเผด็จการกับตำรวจมากเกินไป ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอน ซึ่งโครงสร้างและระบบบริหารงานของตำรวจมีกฎหมาย ข้อระเบียบบังคับ ไว้ควบคุมการทำงานและการปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ และไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปตำรวจ และร้อยละ 10.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "การปฏิรูปตำรวจไทย" ระหว่างวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง