ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษากรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในคดีที่นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ยื่นฟ้องปลัดกระทรวงการคลัง ในวันที่ 1 ส.ค.60 เวลา 10.00 น.
คดีนี้นายศิโรฒม์ฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ปลัดกระทรวงการคลังมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการตามมติของ ป.ป.ช. และมีคำสั่งลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ โดยกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่กรณีร่วมกันพิจารณาการรับโอนหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) ของนายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ จาก น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี โดยรับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ลดโทษปลดอดีตอธิบดีกรมสรรพากรออกจากราชการและคืนสิทธิประโยชน์ให้ คดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว
ต่อมา ป.ป.ช.ได้ยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียและถูกกระทบจากผลของคำพิพากษา ซึ่งไม่ได้เข้ามาในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากมิได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งพิพาท โดยวินิจฉัยก้าวล่วงไปถึงกระบวนการไต่สวนของผู้ร้องว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นกรณีที่ศาลฟังข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่ปรากฏอยู่ในสำนวนการไต่สวนของผู้ร้อง และไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการดำเนินการของผู้ร้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ประกอบกับไม่ปรากฏว่าการพิจารณาของศาลที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้นเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอพิจารณาใหม่ ผู้ร้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง
แต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ของ ป.ป.ช.ไว้พิจารณา และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี เนื่องจากกรณีนี้ ป.ป.ช.เป็นผู้ตรวจสอบและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและได้มีการดำเนินการไต่สวนอดีตอธิบดีกรมสรรพากร พยานบุคคล รวมทั้งพยานเอกสารและพยานวัตถุ ดังนั้น ป.ป.ช.จึงเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการชี้มูลความผิดของอดีตอธิบดีกรมสรรพากรมาตั้งแต่ต้น ป.ป.ช.จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องในการวินิจฉัย หรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดี ป.ป.ช.จึงมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ดังนั้น การที่ ป.ป.ช.มิได้เข้ามาในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแต่แรก ทำให้ไม่มีโอกาสได้ต่อสู้คดี และไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว ป.ป.ช.จึงเป็นผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีนี้ใหม่ได้ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว