สนช.ลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน วาระ 3 ไม่ต้องเซ็ตซีโร่

ข่าวการเมือง Thursday July 27, 2017 18:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ 3 ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 143 งดออกเสียง 7 ไม่ลงมติ 1 เพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว หลังจากแก้ไขบทเฉพาะกาลให้ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันสามารถดำรงตำแหน่งได้จนครบวาระ

ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธาน กมธ.ฯ รายงานว่า มีผู้เสนอคำแปรญัตติจำนวน 10 คน โดยพอใจกับการแก้ไขของ กมธ.ฯ 2 คน ส่วนอีก 8 คนยังติดใจเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งต่อไปของผู้ตรวจฯ ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 56-59 โดย กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาแล้วเห็นควรตั้งข้อสังเกต 3 ประการ ได้แก่

1.ตามมาตรา 18 วรรคหก กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 90 วันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง แต่หากมีกรณีทำให้ไม่อาจได้บุคคลมาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็จะต้องดำเนินการใหม่โดยให้ถือว่าเป็นวันที่เริ่มดำเนินการใหม่และให้นับต่อไปอีก 90 วัน

2.ตามมาตรา 21 กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใดๆ นั้น ไม่รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเดินทางไปร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือเข้าร่วมการประชุมหารือเพื่อเป็นไปตามภารกิจอันเกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งรับเชิญหรือประสารงานกับองค์กรระหว่างประเทศหรือประเทศต่างๆ

3.การกำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 8 ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาฯ สมควรที่จะต้องพิจารณาและกำหนดแนวทางให้ชัดเจนและเกิดความรอบคอบ ทั้งนี้ กมธ.ฯ ได้นำความคิดเห็นและการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาคส่วนต่างๆ จากทั้ง สนช. และข้อคิดเห็นของประชาชนมาประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วน

หลังจากนั้นที่ประชุมฯ ได้พิจารณาในวาระ 2 เรียงลำดับมาตรา จนถึงบทเฉพาะกาลในมาตราที่ 56-58 เรื่อง เกี่ยวกับเรื่องสถานภาพของผู้ตรวจฯ ชุดปัจจุบัน โดย กมธ.ฯ ได้ยืนตามร่างเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมา คือ ให้รีเซตผู้ที่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแน่ง แต่ปรากฏว่าสมาชิกได้เสนอแปรญัตติให้ผู้ตรวจฯ ชุดปัจจุบันอยู่ต่อจนครบวาระตามรัฐธรรมนูญเดิม ทำให้ที่ประชุมฯ หาข้อยุติไม่ได้ ประธานจึงได้สั่งพักการประชุมเพื่อให้ กมธ.ฯ ได้หารือข้อสรุป

หลังจากพักประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วกลับมาประชุมอีกครั้ง กมธ.ฯ ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า กมธ.ยอมแก้ไขบทเฉพาะกาล สถานภาพของผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบัน จากเดิมที่ระบุให้ผู้ตรวจฯ ที่อยู่ในตำแหน่งก่อนที่ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ต้องพ้นจากตำแหน่งถ้ามีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญปี 2560

ทั้งนี้ แก้ไขเป็นให้ผู้ตรวจฯ ที่อยู่ในตำแหน่งก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระตามร่าง พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 โดยไม่นำมาตรา 8 ของร่าง พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 มาบังคับใช้

ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า การแก้ไขดังกล่าวเป็นลักษณะปล่อยให้อยู่ในตำแหน่งทั้งหมด เหตุใดจึงแตกต่างไปจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ที่ให้เซ็ตซีโร่ทั้งหมด ซึ่งเป็นคำถามในสังคมต่อไปว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ละฉบับไม่เหมือนกันใช่หรือไม่

ด้าน พล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ สมาชิก กมธ.ฯ ชี้แจงว่า เหตุผลในการปรับแก้เป็นการอำนาจตามาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้พิจารณาที่ตัวบุคคลแต่เป็นเรื่องของขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญใหม่จะมีอำนาจหน้าที่ลดน้อยลงไปจากรัฐธรรมนูญปี 50

ขณะเดียวกันผู้ตรวจการฯ ชุดปัจจุบันได้รับประเมินผลงานจากสถาบันพระปกเกล้าว่ามีผลงาน และได้รับการยกย่องจากองค์กรต่างประเทศ นอกจากนี้ถือเป็นการให้ความยุติธรรมและเป็นธรรมกับผู้ตรวจการฯ ชุดปัจจุบันที่ได้รับการสรรหามาจากรัฐธรรมนูญปี 50 แต่ยังอยู่ไม่ครบวาระ 6 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ