ครม.ไฟเขียวร่าง กม.7 ชั่วโคตรหวังป้องปรามข้าราชการไม่ให้ทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่

ข่าวการเมือง Tuesday August 1, 2017 18:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

"กฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลตั้งใจให้เจ้าหน้าที่ราชการมีความสุจริตและปฏิบัติงานโดยความระมัดระวัง ไม่เอาประโยชน์ส่วนตนไปปนกับประโยชน์ส่วนรวม เดิมบังคับใช้แค่นายกรัฐมนตรี แต่ตอนนี้จะบังคับใช้กับข้าราชการทุกระดับ ตลอดจนพนักงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และภาคเอกชนที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการของรัฐ ซึ่งจะครอบคลุมถึงญาติใน 4 ลำดับ คือ ผู้สืบสันดาน, บุพการี, คู่สมรส, พี่น้อง รวมไปจนถึงบุตรบุญธรรม" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดนิยามคำว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" "หน่วยงานของรัฐ" "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" "กฎ" "คู่สมรส" "ญาติ" "โดยทุจริต" "ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้" "ปกติประเพณีนิยม"

พร้อมทั้งกำหนดหลักการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ สุจริตและเที่ยงธรรม ไม่กระทำการที่จะก่อให้เกิดความไม่เชื่อถือหรือความไม่ไว้วางใจและไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม

และ กำหนดการกระทำดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ได้แก่ การใช้ข้อมูลภายในของรัฐที่ยังเป็นความลับอยู่ ซึ่งตนได้รับหรือรู้จากการปฏิบัติราชการโดยทุจริต การริเริ่ม เสนอ จัดทำ หรืออนุมัติโครงการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐโดยทุจริต การใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานที่ตนสังกัดหรือที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ไปเพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น เป็นต้น

พร้อมทั้ง กำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ในการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ของตนหรือตามที่ได้รับมอบหมาย และกำหนดห้ามคู่สมรสและญาติของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

และ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ยังไม่ถึง 2 ปี เป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน ลูกจ้าง ผู้รับจ้าง หรือดำรงตำแหน่งอื่นในธุรกิจของเอกชนซึ่งเคยอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของตน และรับเงินหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นจากธุรกิจของเอกชนดังกล่าวเป็นพิเศษ กำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหรือออกจากราชการหรือหน่วยงานของรัฐ กระทำโดยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือใช้ความลับดังกล่าวไปโดยทุจริต

กำหนดหลักเกณฑ์กรณีสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาของรัฐกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าร่างสัญญาของรัฐทำขึ้นโดยทุจริต หรือมีลักษณะเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ ให้แจ้งความเห็นไปยังหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะเป็นคู่สัญญาและหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นสังกัดอยู่ และให้เสนอร่างสัญญาพร้อมความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีหรือองค์กรที่มีอำนาจบังคับบัญชา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการต่อไป

และ กำหนดให้สัญญาของรัฐที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการทำหรือให้ความเห็นชอบสัญญานั้นโดยทุจริต หรือมีลักษณะเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ให้มีผลเป็นโมฆะหรือให้ดำเนินการตามสัญญาต่อไป หรือให้มีผลเป็นโมฆะเฉพาะส่วน แล้วแต่กรณี

กรณีที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่าสัญญาใด มีลักษณะตามมาตรา 12 ให้เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยให้ถือว่าเอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ หรือจัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามมาตราต่อไป

ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง มีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีโครงการของรัฐที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเข้าลักษณะเป็นการทุจริตหรือการขัดกันระหว่างประโยชน์ดังกล่าว มีผลทำให้รัฐเสียประโยชน์อย่างร้ายแรงหรือการทุจริตหรือการขัดกันระหว่างประโยชน์ดังกล่าว มีลักษณะเป็นนัยสำคัญในการทำโครงการดังกล่าว โดยในกรณีนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภายในสองปีนับแต่วันเริ่มโครงการ เพื่อสั่งให้ยุติหรือสั่งให้นำโครงการดังกล่าวกลับไปทบทวนใหม่เพื่อแก้ไขให้รัฐไม่เสียประโยชน์

กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องแสดงข้อมูลและรายได้จากการดำรงตำแหน่งการประกอบอาชีพ วิชาชีพหรือกิจกรรมอื่น ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดให้มีหน่วยงานพิเศษขึ้นภายในสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อรับผิดชอบในการกำกับดูแลและการบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดทำข้อกำหนดและคู่มือการปฎิบัติของหน่วยงานของรัฐ

นอกจากนั้น ยังกำหนดบทกำหนดโทษทางอาญา กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

กำหนดมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานที่ตนสังกัด หรือที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไปเพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกฎ หรือทรัพย์สินนั้นมีราคาเล็กน้อย มาใช้บังคับจนกว่าจะมีระเบียบว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินตามที่กำหนด และกำหนดมิให้นำบทบัญญัติการห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ทำงานในธุรกิจมาใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

กำหนดให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธาน ป.ป.ช.รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ